พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Friday September 25, 2020 13:55 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 116/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 25-26 กันยายน ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 กันยายน - 1 ตุลาคม ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 27 กันยายน - 1 ตุลาคม บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย.- 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร รวมทั้งอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร รวมทั้งทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตร

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18 - 24 กันยายน 2563 พายุโซนร้อน "โนอึล (NOUL (2011))" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงเช้าของวันที่ 18 ก.ย. จากนั้นได้เคลื่อนผ่านประเทศลาวก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดมุกดาหาร เมื่อเวลา 14.00 น. ก่อนจะเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณจังหวัดขอนแก่นเมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 19 ก.ย. จากนั้นได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นอกจากนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยในระยะกลางช่วง จากนั้นร่องมรสุมดังกล่าวได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในระยะครึ่งแรกของช่วงจากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นเป็นบริเวณกว้างเกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนหนักมากหลายพื้นที่ในวันที่ 18 ก.ย.

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 22 และ 24 ก.ย. มีฝนร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 18 และ 23 ก.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์และกำแพงเพชรในวันที่ 18 ก.ย. บริเวณจังหวัดตากในวันที่ 19 ก.ย. บริเวณจังหวัดลำพูน ลำปางและพิจิตรในวันที่ 20 ก.ย. บริเวณจังหวัดแพร่ในวันที่ 21 ก.ย. บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 24 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตลอดช่วง โดยเฉพาะในวันที่ 18 ก.ย. มีรายงานฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมาในวันที่ 18 ก.ย. บริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 19 ก.ย. บริเวณจังหวัดเลยในวันที่ 20 ก.ย. ภาคกลางมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 45-75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากพื้นที่แห่งตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดลพบุรีในวันที่ 18 ก.ย. บริเวณจังหวัดสิงห์บุรีในวันที่ 21 ก.ย. บริเวณจังหวัดกาญจนบุรีและชัยนาทในวันที่ 24 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของช่วงมีฝนร้อยละ 35 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราดในวันที่ 18 ก.ย. บริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 19 และ 23 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในระยะกลางช่วงมีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 18 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 20 และ 21 ก.ย.มีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดระนองและพังงาในวันที่ 18 ก.ย.

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ชุมพร นราธิวาส ระนอง และตรัง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี พังงา และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ