พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Friday October 16, 2020 13:26 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 125/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค. ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงวันที่ 17-22 ต.ค. ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คำเตือน ในช่วงวันที่ 16-19 ต.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร สำหรับในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามัน งดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-22 ต.ค. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง โดยมีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงนี้ฝนและอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับในพื้นที่ ที่ถูกน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค. มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมแรง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็น โดยฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงวันที่ 17-19 ต.ค. จะมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค และอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในระยะต่อไป เกษตรกรควรระวังและป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักบางแห่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขัง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ เพื่อป้องกันโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร รวมทั้งทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตร

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-22 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค. ส่วนในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9 - 15 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกตลอดช่วง โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่างในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค. และพาดเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาในวันสุดท้ายของช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงตลอดช่วง อีกทั้งในวันแรกของช่วงมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "หลิ่นฟา (LINFA (2015))" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 11 ต.ค. ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เมื่อเวลา 22.00 น. พายุลูกนี้ได้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกแล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่เมืองอัตตะปือ ประเทศลาว เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันต่อมา รวมทั้งอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "นังกา (NANGKA (2016))" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้เคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนิญบิญ ทางตอนใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. พายุลูกนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองทัญฮว้า ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดช่วง กับมีรายงานน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12 และ 15 ต.ค. มีฝนร้อยละ 35-70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักในระยะกลางและปลายช่วงและมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 9-15 ต.ค. และจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 13 ต.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในที่ 11, 12 และ 14 ต.ค. มีฝนร้อยละ 5-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นและวันสุดท้ายของช่วง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทในวันที่ 9 ต.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดราชบุรีในวันที่ 10-14 ต.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงและน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ 9-10 ต.ค. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 12 และ 14 ต.ค. มีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 9, 11 และ 14 ต.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระยองในวันที่ 9 ต.ค. จังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 13-15 ต.ค. จังหวัดสระแก้วในวันที่ 9, 10 และ 12-15 ต.ค. จังหวัดชลบุรีและจันทบุรีในวันที่ 10 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 95 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 10 ต.ค. จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และสุราษฎร์ธานีในวันที่ 14-15 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และมีฝนหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 11 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 12-15 ต.ค. จังหวัดตรังในวันที่ 12-16 ต.ค. จังหวัดสตูลในวันที่ 13-16 ต.ค. จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานีในวันที่ 14 ต.ค. และจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 14-16 ต.ค. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 12 ต.ค. และจังหวัดสตูลในวันที่ 13 ต.ค.

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และตรัง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ