พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2020 15:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 138/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16 - 20 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 22 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้จะมีฝนหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16 - 17 พ.ย. 63 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารเนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลงอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 17 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในช่วงวันที่ 21 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียสบริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้เนื่องจากความชื้นในดินยังคงมีอยู่ แต่ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโตและผลิดอกออกผล เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ หากขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชตายสูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่งในช่วงวันที่ 21 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ส่วนปริมาณฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 16 - 22 พ.ย. 63 อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่งในช่วงวันที่ 21 - 22 พ.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % -

เนื่องจากฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหารจากพืชที่ปลูก และเป็นการตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17 - 22 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 17 - 22 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่อง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน 2563 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอ่อนกำลังลง นอกจากนี้ พายุโซนร้อน "เอตาว (ETAU (2021))" ในทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองนาตรัง ประเทศเวียดนามในช่วงเช้าของวันที่ 10 พ.ย. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ และปกคลุมประเทศกัมพูชาในวันต่อมา กับมีไต้ฝุ่น "หว่ามก๋อ (VAMCO (2022))" บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดองฮอย ประเทศเวียดนามเมื่อเวลา 11.30 น. ของวันที่ 15 พ.ย. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวตามลำดับ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวในบางพื้นที่ และมีฝนบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในวันที่ 11-12 พ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในบางวัน สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11 พ.ย. มีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ในวันที่ 11 พ.ย. และมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ในวันที่ 12 พ.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ ส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 25-40 ของพื้นที่ในวันที่ 10 และ 12 พ.ย. กับมีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ในวันที่ 11 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 10, 14 และ 15 พ.ย. มีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 9 - 11 พ.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดยะลาในวันที่ 11 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 9, 12 และ 13 พ.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พัทลุง ยะลา นราธิวาส กระบี่ และตรัง โดยวัดปริมาณฝนได้ 143.4 มม. ที่ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 14 พ.ย.

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ