พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 3 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday December 28, 2020 15:50 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 3 มกราคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 156/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28 - 29 ธ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 28 - 29 ธ.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ส่วนในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง 6 - 8 องศาเซลเซียส ทำให้มีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค. 63 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และ อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 อากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 9-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจแผงกำบังลมหนาวให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และควรเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น หากโตได้ขนาดควรจับขายก่อนบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 29 ธ.ค. 63 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 อากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 24 - 30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับปริมาณฝนที่มีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลแผงกำบังลมหนาวให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และควรเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือนเพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น หากโตได้ขนาดควรจับขายก่อนบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 30 ธ.ค. 63 มีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ในช่วงที่อากาศเย็นเกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนตอนกลางวันมีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานในที่โล่งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 30 ธ.ค. 63 มีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนในช่วงวันที่ 28 -30 ธ.ค. 63 จะมีหมอกในตอนเช้า ชาวสวนมะม่วงควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราดำ โดยฉีดพ่นด้วยน้ำบริเวณทรงพุ่ม ใบ และยอด แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงโดยเฉพาะบริเวณช่อดอกเพราะจะทำให้ดอกช้ำการติดผลจะลดลง นอกจากนี้ ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อน เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 28 - 30 ธ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 28 - 30 ธ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันตกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 63 - 3 ม.ค. 64 บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอ่อนกำลังลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้เคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในระยะกลางสัปดาห์ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ภาคเหนือ ในระยะต้นและกลางสัปดาห์มีอากาศหนาวทั่วไปทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขา และยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 24 และ 25 ธ.ค. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคกลางมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันที่ 25 ธ.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาว บางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันที่ 26 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 22 และ 27 ธ.ค. มีฝนร้อยละ 15 - 20 ของพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 25 ธ.ค. และบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 26 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 24 และ 26 ธ.ค. และมีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ในวันที่ 25 และ 27 ธ.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัด ชุมพร และพัทลุง ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล โดยวัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 152.8 มิลลิเมตร ที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ