พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday January 29, 2021 15:20 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ประกอบกับในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดเป็นบางพื้นที่เกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นอย่างต่อเนื่อง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว โดยในช่วงวันที่ 29-31 ม.ค. มีฝนเกิดขึ้นเป็นบางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีความชื้นสูงในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันหนอนใยผักในพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดขาวปลี นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 13-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง เกษตรกรควรทำแผงกำบังลมให้แก่สัตว์เลี้ยง และเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นและมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันเพลี้ยจักจั่นมะม่วงในมะม่วงระยะแทงช่อดอกถึงพัฒนาผล นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรปรับลดปริมาณอาหารแก่สัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืช ดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำ ไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันหนอนเจาะผลในทุเรียน สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 22 - 28 มกราคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้เกือบทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงมีอากาศเย็น กับมีอากาศหนาวส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนเกือบตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลงเหลือเพียงบางพื้นที่เกือบตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดช่วง ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปในระยะต้นช่วง จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดตลอดช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นช่วงจากนั้นมีอากาศเย็นทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดในระยะต้นช่วงจากนั้นมีอากาศหนาว ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค โดยมีฝนเล็กน้อยน้อยกว่าร้อยละ 15 บริเวณชายฝั่งตอนล่างของภาคในระยะกลางช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24 และ 27 ม.ค. มีฝนร้อยละ 35-60 ของพื้นที่

ช่วงที่ผ่านมาภาคใต้มีรายงานฝนตกหนักบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนราธิวาส โดยวัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 39.8 มิลลิเมตร ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ