พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday February 8, 2021 13:38 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 17/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฝน ฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงเกิดขึ้น โดยมีลูกเห็บตกบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 12 ก.พ. 64 บริเวณ

ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลง 4 - 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อน

คำเตือน ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้ ขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และให้ระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 14 ก.พ. 64 อุณหภูมิจะลดลง ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพและดูแลผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 11 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 12 - 14 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง รวมทั้งผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้กับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10-13 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส โดยมีฝน ร้อยละ10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณตอนล่างของภาคในวันที่ 10 ก.พ. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-11 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในวันที่ 14 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงโดยเฉพาะตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยโดยดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 10 - 12 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2- 4 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวนเกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยเกษตรกรควรใช้น้ำอย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝน ร้อยละ10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณตอนล่าง ของภาคในวันที่ 10 ก.พ. 64 อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเกษตรกรควรผูกยึดค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้ไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 %

  • ระยะนี้ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก สำหรับระยะนี้และระยะต่อไป ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกมีกำลังอ่อนลงในวันแรกของสัปดาห์ โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าวในระยะกลางสัปดาห์แล้วอ่อนกำลังลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีอากาศเย็นเกือบ ทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบนในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทำให้ภาคเหนือมีฝนในระยะดังกล่าว สำหรับภาคใต้มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาคจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้

          ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางร้อยละ 25 ของพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันสุดท้ายของสัปดาห์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภู มีอากาศหนาว ภาคกลางมีอากาศเย็นทั่วไป ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 4 ก.พ. และมีฝน    ร้อยละ 10 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยถึง    ปานกลางร้อยละ 5-45 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่โดยมีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเหนือและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเชียงรายและระยองตามลำดับ โดยวัดปริมาณได้58.9 มม.ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 7 ก.พ. และ 60.9 มม.ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 ก.พ.

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ