พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

ข่าวทั่วไป Monday February 22, 2021 14:21 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 23/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาค/ ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เว้นแต่ในช่วงวันที่ 25-26 ก.พ. 64 ลมตะวันตกในระดับบนพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอากาศหนาวเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย ตลอดช่วง

คำเตือนในช่วงวันที่ 22-28 ก.พ. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพ เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. 64 เมฆบางส่วน กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เว้นแต่ในช่วงวันที่ 25-26 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

  • เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย จากสภาพอากาศที่มีหมอกในตอนเช้า และมีแดดจัดในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราสนิมในกาแฟ เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชดังกล่าว นอกจากนี้เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังในขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 22-26 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส เว้นแต่ในวันที่ 26 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 27-28 ก.พ. 64 มีเมฆบางส่วน กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝน ร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชผักตระกูลแตง และใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวังในขณะสัญจรผ่านในบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. 64 มีเมฆบางส่วน กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เว้นแต่ในวันที่ 26 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานของแสงแดด 5-8 ชั่วโมง

  • อากาศเปลี่ยนแปลง และมีหมอกในตอนเช้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและหนอน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกถั่วเขียว เนื่องจากศัตรูพืชดังกล่าว จะกัดกินและดูดน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อน ช่อดอก ฝักอ่อน ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบหงิกงอ ดอกร่วงและฝักอ่อนบิดเบี้ยว ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 24-28 ก.พ. 64 มีเมฆบางส่วนกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 7-9 ชั่วโมง

  • มีหมอกในตอนเช้า และมีแดดจัดในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะต่อการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนและเพลี้ยในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เกษตรกรควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวไว้ด้วย เนื่องจากในตอนกลางวันมีแดดจัด ทำให้การระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกหรือโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อชะลอการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินแล้วยังช่วยรักษาความชื้นภายในดินอีกด้วย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง

ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 5-8 ชั่วโมง

ฝั่งตะวันตก มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ตลอดช่วงในช่วงวันที่ 22-23 ก.พ. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ในช่วงวันที่ 24 - 28 ก.พ. 64 ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีสูงคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานของแสงแดด 6-8 ชั่วโมง

- ระยะนี้ชาวสวนยางพารา ควรเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและยางพาราอยู่ในช่วงผลัดใบ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้ปริมาณมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้วยคุณภาพได้ รวมทั้งควรเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวน ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย

ลักษณะอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าวและอ่อนกำลังลงในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็น โดยเฉพาะในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์มีอากาศเย็นทั่วไปกับ มีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีฝนบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ทำให้มีฝนบริเวณฝั่งตะวันออกของภาคในช่วงดังกล่าว

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันที่ 17, 18 และ 21 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ในวันที่ 19 และ 21 ก.พ. ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรีในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ในวันที่ 17 ก.พ. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นทั่วไป โดยมีฝนบางพื้นที่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 17 ก.พ. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 17 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ในวันที่ 17-20 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 79.8 มิลลิเมตร

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ