พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Wednesday March 10, 2021 15:55 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 10 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 30/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 10 - 11 มี.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 มี.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนบางแห่ง ตลอดช่วง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 10 - 11 มี.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 15-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 45-65 % ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตอนบนของภาคอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมากเกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 45-55 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ช่วงนี้จะมีอากาศร้อนและมีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อป้องกันผิวไหม้และร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ อย่างแออัดส่งผลให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 10 - 11 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 มี.ค. อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 40-60 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศร้อนและแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่เพาะปลูก สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโตและระยะให้ผลผลิต หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ถ้าขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชตายสูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง รวมทั้งเกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ตะวันออก ในช่วงวันที่ 10 - 11 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 16 มี.ค. อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 55-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสภาวะดังกล่าว และควรผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 %

  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรและโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา ควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งานเพื่อป้องกันไฟลุกลามส่วนทางตอนล่างของภาคระยะนี้มีฝนไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 3 - 9 มีนาคม 2564 ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เลย บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แพร่ น่าน พิษณุโลก หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ