พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 11 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2021 15:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 11 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 70/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 11 - 14 มิ.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อม ความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และ บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 11 - 14 มิ.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนที่ตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก เป็นต้น เช่น โรคหัวเน่าในมันสำปะหลัง โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบจุดสนิมในกาแฟ และโรคเน่า ในพืชผัก เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนและแผงกำบังฝนสาดให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 11 - 13 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 17 มิ.ย. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์และชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และไม่ควรปลูกหนาแน่นจนเกินไป หากทำได้ควรหันหัวแปลงปลูกไปตามทิศทางลม เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคเชื้อรา

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์\

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม. - ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงฤดูฝนแมลงและสัตว์ศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น ไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์เลี้ยงชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพื่อป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกันและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผลรวมทั้งทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1- 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมาลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะ ทางฝั่งตะวันตกซึ่งจะมีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพูในยางพารา และโรคใบจุดสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยเฉพาะทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 4 - 10 มิถุนายน 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงในระยะปลายช่วง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน ประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ยในระยะกลางช่วง อีกทั้งมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณดังกล่าวในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 75-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วงจากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพะเยา แพร่ และลำปางในวันที่ 4 มิ.ย. จังหวัดพิจิตรในวันที่ 6 มิ.ย. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 9 มิ.ย. และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 4 มิ.ย. และจังหวัดตากในวันที่ 6 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ในวันแรกของช่วง จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยยังคงมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสกลนคร อุดรธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมาในวันที่ 4 และ 5 มิ.ย. บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีในวันที่ 5 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 5-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 8 และ 9 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 70-85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 9 มิ.ย. โดยมีอากาศร้อนทั่วไป ในระยะครึ่งแรกของช่วงจากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสระบุรี ในวันที่ 6 มิ.ย. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 8 และ 9 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง โดยยังคงมีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคในระยะครึ่งแรกของช่วง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 9 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง โดยยังคงมีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 5 มิ.ย. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปัตตานีในวันที่ 5 และ 9 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 6 และ 9 มิ.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 8 มิ.ย.

ช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม ตราด ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร อ่างทอง ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ