พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2021 16:14 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 117/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. ร่องมรสุมกำลังอ่อนจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้

คำเตือน ในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสในมะม่วง รวมทั้งควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบพืชเริ่มมีอาการของโรค จึงตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง เกษตรกรควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมและทำแผงกำบังฝนให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าเปียก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28-30 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบไหม้

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 20 - 26 กันยายน 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันและพายุโซนร้อน "เตี้ยนหมู่ (DIANMU, 2115)" ปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 23 ก.ย. จากนั้นได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนามเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 ก.ย. โดยพายุนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองสะหวันนะเขต ประเทศลาวและได้เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณ จ.มุกดาหาร เมื่อช่วงค่ำของวันเดียวกัน แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 25 ก.ย. นอกจากนี้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยพาดเข้าสู่หย่อมความกดความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาในวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งต่อมาหย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคกลางตอนล่างก่อนเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวมะตะบันในวันที่ 22 ก.ย. ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่น และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นส่วนมากในระยะต้นและปลายสัปดาห์ ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย และพิจิตร กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 20 และ 24 ก.ย. จังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 23 และ 26 ก.ย. จังหวัดลำพูนในวันที่ 24-25 ก.ย. จังหวัดลำปางในวันที่ 25 ก.ย. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 20 ก.ย. และจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 24 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิกับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 20-21 ก.ย. จังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานีในวันที่ 25-26 ก.ย. และจังหวัดเลยในวันที่ 26 ก.ย. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ดและสกลนครในวันที่ 24 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดราชบุรีในวันที่ 23 ก.ย. จังหวัดนครสวรรค์

ชัยนาท และสิงห์บุรีในวันที่ 24-26 ก.ย. และจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรีในวันที่ 26 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอ่างทองในวันที่ 24 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 20, 21 และ 26 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 21, 25 และ 26 ก.ย. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและปลายสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 20 - 21 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 23-24 ก.ย. มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดแพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นราธิวาส ระนอง พังงา และกระบี่ ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น สุรินทร์ ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ