พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Wednesday October 27, 2021 15:40 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 130/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 27 - 30 ต.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างจะ เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชา ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 27 - 30 ต.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง แต่บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง ขอให้เกษตรกรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ระยะนี้ในช่วงแรกจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลงโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในระยะต่อไป ส่วนทางตอนล่างของภาคที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนพื้นที่ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ พบได้ในพืชวงศ์มะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ รวมทั้งวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ โดยหนอนดังกล่าวจะกัดกิน ชอนไชใบ ลำต้น และผล ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 27 - 30 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้ในช่วงแรกจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง หลังจากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในระยะต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนพื้นที่ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอเกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน เป็นต้น ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ระยะนี้จะมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม สำหรับระยะนี้ยังคงมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก โดยเฉพาะโรครากเน่า-โคนเน่าในมะละกอ ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ลำต้นบริเวณผิวดินมีรอยเน่าเป็นสีดำ ลักษณะฉ่ำน้ำ ยุบเป็นแถบๆ รอยเน่าอาจขยายตัวขึ้นด้านบนทำให้ใบที่เกิดมาใหม่มีก้านใบสั้นและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเร็วกว่าปกติ หรือหากเชื้อราขยายลงส่วนล่างจะทำให้รากแก้วเน่าเปื่อย หากมีอาการรุนแรง โคนต้นจะหักพับและตายในที่สุด ส่วนพื้นที่ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลืองในระยะปลูกใหม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากัน แล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด แล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นและกระจายไปทั่วทั้งแปลง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้ในช่วงแรกจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง หลังจากนั้นปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง สำหรับพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หากระดับน้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกและฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 27 - 29 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 27 - 29 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 30 ต.ค. - 2 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ หลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 20 - 26 ตุลาคม 2564 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา พิษณุโลก เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง ส่วนบริเวณที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ