พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 13 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday December 13, 2021 14:29 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 13 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 13 - 15 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1?3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลง 1?2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 17 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกบางในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 18 - 19 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่อีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1?3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1?2 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังค่อนข้างแรงตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ในช่วงวันที่ 15 - 19 ธ.ค. ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพ ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 17 ธ.ค. จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 15-19 ธ.ค. บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันห่างฝั่งจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13?16 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 17-19 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลง สัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยอาหาร ที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจแผงกำบังลมหนาวให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน ป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร อาคารบ้านเรือน และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13?15 และ 18-19 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนช่วงวันที่ 16?17 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับสภาพอากาศที่แห้งและมีลมแรง เกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งในตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงตายได้ รวมทั้งควรสำรวจแผงกำบังลมหนาวให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน และควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนให้กับสัตว์ที่ยังเล็ก เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13?15 และ 18-19 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้อากาศเย็น เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับสภาพอากาศที่แห้งและมีลมแรง เกษตรกรที่ปลูกพืชในโรงเรือนควรทำแผงกำบังลม เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ลดการคายระเหยของน้ำ ป้องกันพืชขาดน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 13?15 และ 18-19 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 16?17 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกบาง ในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรต่อไปในช่วงแล้ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 13 ? 15 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 19 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 13 ? 15 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 16 ? 19 ธ.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคจะมีอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนทางตอนล่างจะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง และทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนสำรวจคูคลองระบายน้ำรวมทั้งสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขินติดขัดน้ำไหลได้สะดวก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเตรียมสถานที่สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผักซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15-19 ธ.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันห่างฝั่งจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 6 ? 12 ธันวาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์จากนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวในบางพื้นที่

สำหรับภาคใต้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีปริมาณและการกระจายของฝนลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ยังคงมีฝนตกเกือบตลอดสัปดาห์ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาคภาคเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวในบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวในบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 10 ธ.ค. นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 10 ธ.ค. และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 6 และ 11 ธ.ค.สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช และพังงา โดยวัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 43.2 มิลลิเมตร ที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ