พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 12 มีนาคม 2551 - 18 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday March 12, 2008 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 12 มีนาคม 2551 - 18 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้าและอากาศเย็น ส่วนบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว สำหรับในตอนกลางวัน มีฟ้าหลัวและมีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกือบตลอดช่วง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้มีน้อยอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชโดยเฉพาะไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลแคระแกร็นและร่วงหล่น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า และอากาศเย็น ส่วนบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว สำหรับในตอนกลางวันจะมี ฟ้าหลัวและมีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากในช่วงวันที่ 14-18 มี.ค. สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วไม่ควรตากไว้กลางแจ้ง อาจจะเปียกชื้นเนื่องจากฝนที่ตก ส่วนบริเวณที่มีอากาศร้อนชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของ ศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต และแคระแกร็น
ภาคกลาง
มีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันจะมีฟ้าหลัวและอากาศร้อน โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง บางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกือบตลอดช่วง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพื่อป้องกันความเสียหายเนื่องจากฝนที่ตก อย่างไรก็ดีแม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้อยดังนั้นจึงควรดูแล ให้น้ำแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโต เช่น ผัก พืชไร่ และไม้ดอก เป็นต้น รวมทั้งคลุมโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อสงวนความชื้นในดิน
ภาคตะวันออก
มีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันจะมีฟ้าหลัวและอากาศร้อนทางตอนบนของภาค โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่งเกือบตลอดช่วง เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ส่วนมังคุดที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน ชาวสวนควรให้น้ำอย่างพอเพียง เพราะหากขาดน้ำในช่วงนี้อาจทำให้เกิดอาการเนื้อแก้ว นอกจากนี้ควรค้ำยันกิ่งที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรงด้วย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆถึงกระจายตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง สำหรับบริเวณที่มีสภาพอากาศแห้ง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ชาวสวนยางพาราควรทำแนวกันไฟรอบบริเวณพื้นที่การเกษตรเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย ผู้ที่ ปลูกกาแฟควรระวังและป้องกันการระบาดของหนอนเจาะกิ่งและลำต้น อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12-13 มี.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจะมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ