พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 18 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday July 18, 2022 15:41 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 18 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 85/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกอย่าให้น้ำขังในพื้นที่การเกษตรนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม และหลีกเลี่ยงการนำเครื่องจักรกลหนักเข้าในพื้นที่ เพราะจะทำให้ดินแน่นส่งผลต่อรากพืชและอาจติดหล่มได้ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจหลังคาโรงเรือนและแผงกำบังฝนสาดหากชำรุดควรรีบซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝนหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 19 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตบริเวณโรงเรือน เพราะอาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง เป็นต้น เข้ามาอาศัยหลบฝนบริเวณโรงเรือนทำให้สัตว์เลี้ยงตื่นหรืออาจทำร้ายสัตว์เลี้ยงได้ สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก ดินและอากาศที่มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชนาน ซึ่งจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับยกขอบบ่อให้สูงขึ้น รวมทั้งเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อตลอดจนอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • สำหรับฝนที่ตกจะทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรครากเน่าในพริกไทย และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 18 - 19 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 24 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.กระบี่ ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก และฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำเครื่องจักรกลหนักเข้าในพื้นที่ เพราะจะทำให้ดินแน่นส่งผลต่อรากพืชและอาจติดหล่มได้
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 12-15 ก.ค. โดยมีลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนหนาแน่นส่วนมากในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณภาคใต้มีฝนตกตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาคมีฝนตกชุกหนาแน่นตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 12-16 ก.ค. ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 5-60 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 12-14 ก.ค. จังหวัดลำปางและพิษณุโลกในวันที่ 14 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 13 ก.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 75-90 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักหลายแห่งและมีฝนหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 14, 15 และ 17 ก.ค. มีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดชัยภูมิและบุรีรัมย์ในวันที่ 11 ก.ค. จังหวัดมุกดาหาร นครราชสีมาและขอนแก่นในวันที่ 13 ก.ค. จังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 14 ก.ค. จังหวัดเลยในวันที่ 14-15 ก.ค. จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในวันที่ 15 ก.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 14, 15 และ 17 ก.ค. มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 15 และ 17 ก.ค. มีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชลบุรีและจันทบุรีในวันที่ 12 ก.ค. และจังหวัดตราดในวันที่ 14 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 11-12 ก.ค. จังหวัดนราธิวาสในวันที่ 12 และ 14 ก.ค. และจังหวัดพัทลุงในวันที่ 13 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดภูเก็ตและสตูลในวันที่ 12 ก.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระนองในวันที่ 12 ก.ค. และจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 16 ก.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ตราด ระนอง และพังงา ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ราชบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ