พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 15 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2022 15:30 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 15 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 97/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 16 - 17 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 19 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค.บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 20 -21 ส.ค.บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15 - 17 และ 20 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้ดินและอากาศมีความชื้นสูง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสนิมในกาแฟ โรคราน้ำฝนในลำไย เป็นต้น สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันรากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำและนำเครื่องกลหนักเข้าพื้นที่การเกษตร เพราะอาจส่งผลต่อระบบรากพืชได้ นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู รวมทั้งระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้นอาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาและจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้าในแปลงนาแพร่พันธุ์และกัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15 - 16 และ 20 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนในช่วงที่มีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเน่าดำในกล้วยไม้โรคดอกเน่าในดาวเรือง และโรคแอนแทรกโนสในองุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกชื้น หนาวเย็นจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 15 - 16 และ 19 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 18 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนตกชุกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 15 - 19 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่ จ. ภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ. กระบี่ ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-4 ชม.

  • ในช่วงซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ และโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา เป็นต้น สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ตลอดจนดอกทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงบริเวณตอนบนของทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ ซึ่งต่อมาหย่อมความกดอากาศกล่าวได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงบ่ายของวันที่ 8 ส.ค. และทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุโซนร้อน "มู่หลาน (MULAN, 2207)" ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ส.ค. แล้วเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองก๋วงนินห์ ประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงเช้ามืดของวันที่ 11 ส.ค. และได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองลางซอน ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 07.00 น. จากนั้นได้อ่อนกำลังลงอีกเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมตอนบนของภาคเหนือและประเทศเมียนมาในวันที่ 12 ส.ค.และสลายตัวไปในเวลาต่อมา โดยในระยะกลางสัปดาห์ร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบนตามการเคลื่อนตัวของ พายุโซนร้อน"มู่หลาน" ต่อจากนั้นร่องมรสุมได้พาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 13 ส.ค. โดยหย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์จากนั้นมีกำลังอ่อนลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีรายงานน้ำท่วมในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 45 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8 และ 11 ส.ค. นอกจากนี้มีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายและลำปางในวันที่ 8 ส.ค. จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 8-10 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดตากและสุโขทัยในวันที่ 8 ส.ค. จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 8-9 ส.ค. จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และพิษณุโลกในวันที่ 8-9 และ 12 ส.ค. จังหวัดพิจิตรในวันที่ 9 ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และพะเยาในวันที่ 11 ส.ค. และจังหวัดแพร่ในวันที่ 12 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 30-55 ของพื้นที่เว้นแต่ในวันที่ 8,9และ 12 ส.ค. มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 9 ส.ค. จังหวัดนครพนมในวันที่ 11 ส.ค. และจังหวัดเลย ในวันที่ 12 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 10, 13 และ 14 ส.ค. มีฝนร้อยละ 20-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนครนายกในวันที่ 8 ส.ค. และจังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 8-11 ส.ค. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 11 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ นอกจากนี้มีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสงขลาในวันที่ 8 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครนายก ปราจีนบุรี ตราด นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี พัทลุง สงขลา ยะลาและตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ