พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2022 15:48 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 104/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 3 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตเพราะอาจมีสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยหลบฝนอยู่บริเวณโรงเรือน ซึ่งทำให้สัตว์เลี้ยงตื่นและอาจทำร้ายสัตว์เลี้ยงได้ หากพบควรรีบจัดการให้ออกไปจากโรงเรือน อีกทั้งเกษตรกรควรระมัดระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในมะละกอ โรคราน้ำฝนในลำไย และโรครากเน่าโคนเน่าในสับปะรด รวมทั้งโรคเน่าเละในผักที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 1 - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นดินระบายน้ำยาก เกษตรกรควร ทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึมและไม่ควรปล่อยให้พื้นคอกชื้นแฉะ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกชื้นหนาวเย็น อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะโรคหัวเน่าในมันสำปะหลัง ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบเหี่ยวเหลือง โคนต้นเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ เมื่อถอนดูจะพบหัวมันเน่า หากอาการรุนแรงมันสำปะหลังอาจยืนต้นตายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-85 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงย่ำน้ำที่สกปรก หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 1-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก โดยเฉพาะโรคใบติดหรือใบไหม้ในทุเรียน ซึ่งโรคดังกล่าวมักพบอาการของโรคที่ใบ หากความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรคจะไหม้ แห้ง และหลุดร่วง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 2-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 3 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 1-4 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาวและโรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง ตาก นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด พัทลุง สงขลา พังงา และกระบี่ ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ