พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2022 13:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 117/2565

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุ "โนรู" บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 4 - 6 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้จะมีฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาคลมตะวันออก ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางพื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง กับมีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง รวมทั้งควรระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง เป็นต้นที่ลอยมากับน้ำ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบ ส่องสว่างยามค่ำคืนไว้ให้พร้อม ส่วนพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืชอย่าให้น้ำขังนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ และหลีกเลี่ยงการนำเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่ การเกษตรเพราะจะทำให้ดินแน่นและอาจติดหล่มได้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 20 - 40 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู และควรระวังโรคที่มา กับน้ำ เช่น โรคตาแดง โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และน้ำกัดเท้า เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรอพยพสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงและจัดเตรียมอาหารสัตว์รวมทั้งระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อม และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้สัตว์ อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนัก บางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่กับมีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรเก็บของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันทรัพย์สินเสียหาย รวมทั้งระวังสัตว์มีพิษที่ลอยมากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ และแมงป่อง เป็นต้น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรระบายน้ำออกจากแปลงปลูกไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในพื้นที่การเกษตรนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 ต.ค. ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่กับมีลมแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในพื้นที่การเกษตรเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝน ที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพื่อป้องกันสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อไม่ให้น้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 ต.ค. ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 4 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 6 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงในยางพารา โรคราสีชมพูในไม้ผลและยางพารา และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นได้เลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในวันที่ 26-27 ก.ย. เข้าสู่ไต้ฝุ่น "โนรู (NORU, 2216)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 ก.ย. จากนั้นได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกแล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเคลื่อนเข้าสู่บริเวณแขวงเซกอง ประเทศลาว ในช่วงสายของวันเดียวกัน โดยพายุโซนร้อนลูกนี้ได้เคลื่อนผ่านประเทศลาวและเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 28 ก.ย. ต่อจากนั้นได้อ่อนกำลงเป็นพายุดีเปรสชัน เมื่อเวลา 18.00 น. แล้วเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ตามลำดับ และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 29 ก.ย. ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยโดยมีกำลังค่อนข้างแรงในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกเป็นบริเวณกว้างเกือบตลอดช่วงกับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นตลอดช่วง

ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ ในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของช่วง ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 23, 25 และ 26 ก.ย. จังหวัดลำพูนและสุโขทัยในวันที่ 24-28 ก.ย. จังหวัดลำปางในวันที่ 25-26 ก.ย. จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 25-27 ก.ย. จังหวัดตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ในวันที่ 25-29 ก.ย. และรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 25 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 26 และ 27 ก.ย. มีฝนร้อยละ 65-75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดมุกดาหารในวันที่ 23 ก.ย. จังหวัดอำนาจเจริญในวันที่ 23, 24, 28 และ 29 ก.ย. จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 23 และ 25 ก.ย. จังหวัดยโสธรในวันที่ 24, 28 และ 29 ก.ย. จังหวัดเลยในวันที่ 25-27 ก.ย. จังหวัดศรีสะเกษ ขอนแก่น หนองบัวลำภู และชัยภูมิในวันที่ 25-29 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 28 ก.ย. และจังหวัดมุกดาหารในวันที่ 29 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วงและมีฝนหนักมากบางพื้นที่เกือบตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดสระบุรีในวันที่ 29 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง นอกจากนี้มีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระยองในวันที่ 24-26 ก.ย. จังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 25-29 ก.ย. และจังหวัดสระแก้วในวันที่ 29 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 65-75 ของพื้นที่ในวันแรกและระยะครึ่งหลังของช่วง ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดช่วงและมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะปลายช่วง

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ระนอง พังงา และสตูล ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ