พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 30 พฤษภาคม 2551 - 05 มิถุนายน 2551

ข่าวทั่วไป Friday May 30, 2008 14:47 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 30 พฤษภาคม 2551 - 05 มิถุนายน 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 30 พ.ค.-2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนบนของภาค สำหรับบริเวณที่มีฝนตก ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนเกษตรกรที่ปลูกกะหล่ำปลีควรระวังและป้องกันโรคเน่าเละ ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ นอกจากนี้ควรกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ หากในระยะต่อไปมีฝนตกน้อย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 30 พ.ค.-2 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ผู้ที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์และชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก รวมทั้งจัดการแปลงปลูกให้ระบายน้ำได้ดี เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก อนึ่งเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ หากมีฝนตกลดลงในระยะต่อไป
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 30 พ.ค.-1มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ เกษตรกรที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่วนผู้ที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนต่างๆ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. -1 มิ.ย มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย เนื่องจากระยะนี้เป็นหน้าฝนสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรตัดแต่งกิ่ง และทารอยแผลด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งควรกำจัดวัชพืชและดูแลสวนให้โล่งเตียนอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากนี้ในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่าปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน อาจเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางตอนล่างของภาคตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดช่วง สำหรับชาวสวนยางพาราควรกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อลดความชื้นป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราสีชมพู โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า เป็นต้น ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลควรระวังและป้องกันการระบาดของเชื้อโรคและศัตรูพืชต่างๆ โดยหมั่นสำรวจหากพบผลที่เสียหาย ควรรีบเก็บไปทำลาย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ