พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 26 มิถุนายน 2552 - 02 กรกฎาคม 2552

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 2009 15:43 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 26 มิถุนายน 2552 - 02 กรกฎาคม 2552

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย หลังจากนั้นจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.- 2 ก.ค. เกษตรกรที่ปลูกพืชผักควรระวังป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆ ที่มักระบาดในช่วงที่มีฝนตกชุก เช่น โรครากเน่าโคนเน่า ส่วนชาวสวนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อลดความชื้นภายในสวน และทารอยแผลที่ตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.- 2 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค สำหรับข้าวที่อยู่ในระยะกล้า ชาวนาควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนที่จะกัดกินต้นกล้าให้เสียหาย และชะงักการเจริญเติบโต อนึ่ง เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนอาจลดลงหรือมีฝนทิ้งช่วง พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานจึงควรกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ต่อไป

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจายส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคตลอดช่วง ผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ควรดูแลโรงเรือนให้สะอาด อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งหมั่นสังเกตหากพบต้นที่เป็นโรคควรถอนทิ้งและทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อป้องกันการระบาดภายในโรงเรือน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้ถูกสุขลักษณะ และหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงหากพบตัวที่ป่วยควรแยกออกจากกลุ่ม แล้วรีบรักษา เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อโรคไปยังตัวอื่นๆ

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจายตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่งส่วนมากในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.- 1 ก.ค. สำหรับพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว และถั่วลิสง ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรไถกลบเพื่อเป็นพืชบำรุงดินต่อไป หลีกเลี่ยงการเผาทำลายซึ่งเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลอุณหภูมิและสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วหากสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน จะอ่อนแอ และติดโรคได้ง่าย อนึ่ง ในระยะนี้ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆส่วนมากทางตอนบนของภาคตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจายตลอดช่วง สำหรับพื้นที่การเกษตรบางแห่งปริมาณฝนอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเพียงพอ ป้องกันพืชขาดน้ำจนชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆ ซึ่งจะทำลายผลผลิตให้เสียหาย อนึ่ง ในระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ