พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 5 ตุลาคม 2552 - 11 ตุลาคม 2552

ข่าวทั่วไป Monday October 5, 2009 15:16 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 ตุลาคม 2552 - 11 ตุลาคม 2552

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคตลอดช่วง สภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะนี้ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งควรเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อม เนื่องจากระยะต่อไปอุณหภูมิจะลดลง สำหรับผู้ที่ปลูกพืชไร่และพืชผักในระยะนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตอนล่างของภาคตลอดช่วง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกพืชในช่วงปลายฤดูฝนนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคเกือบตลอดช่วง สำหรับพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่ม หากมีน้ำท่วมขังเกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก อย่าปล่อยให้น้ำท่วมบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานานเพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ และต้นตายได้ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนมากตามบริเวณชายฝั่งตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 6-11 ต.ค. สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มหากมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรรีบระบายออก อย่าปล่อยให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ สำหรับชาวสวนยางพาราควรดูแลสภาพสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดความชื้นเพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง และฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 6-11 ต.ค. ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ตลอดช่วง และฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 6-11 ต.ค. เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรกรควรเตรียมขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับพืชที่อยู่ในระยะแตกใบอ่อน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ใบและยอดอ่อนเสียหาย หากพบศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้แพร่ระบาด

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ