พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 31 มีนาคม 2553 - 06 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday March 31, 2010 15:04 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 31 มีนาคม 2553 - 06 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัดและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 31 มี.ค. -1 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งให้มั่นคงและแข็งแรง สำหรับฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยเพิ่มความชื้นแก่ดิน อย่างไรก็ดีฝนที่ตกในระยะนี้ยังไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรจึงควรสงวนความชื้นในดิน โดยคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และใช้น้ำที่สำรองไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง หากเป็นไปได้ควรให้น้ำตอนกลางคืนเพื่อลดการระเหยของน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย. อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่ง ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่หากปริมาณความชื้นในดินยังไม่เพียงพอ เกษตรกรก็ควรชะลอการปลูกพืชออกไปก่อนรอจนมีฝนตกสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืชในบางช่วงของการเจริญเติบโต

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้อย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสมเพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต สำหรับผู้ที่ปลูกกล้วยไม้ในโรงเรือนควรเพิ่มความชื้นในโรงเรือนโดยวางวัสดุชุบน้ำไว้ในโรงเรือน หรือฉีดน้ำบริเวณหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย. อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ในช่วงวันที่ 3-6 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรตรวจสภาพวัสดุที่ใช้ค้ำยันกิ่งให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการหักโค่นเมื่อมีลมกระโชกแรง สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกสม่ำเสมอจนแน่ใจว่ามีความชื้นในดินเพียงพอ เกษตรกรก็สามารถปลูกพืชรอบใหม่ได้ในระยะนี้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 31 มี.ค.—2 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางตอนล่างของภาค หลังจากนั้นมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ตลอดช่วง สำหรับฝนที่ตกจะเป็นผลดีแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และระยะออกดอกหรือติดผลอ่อน ส่วนชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีสภาพอากาศแห้งโดยหลีกเลี่ยงการจุดไฟในสวน หากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ