พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 5 - 11 เมษายน 2553

ข่าวทั่วไป Monday April 5, 2010 14:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 05 เมษายน 2553 - 11 เมษายน 2553

ภาคเหนือ

มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 37-43 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง เว้นแต่ในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในสภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้อัตราการคายระเหยน้ำจะมีสูง ผู้ที่ปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ควรดูแลให้น้ำแก่พืชสม่ำเสมอและคลุมแปลงปลูกเพื่อรักษาความชื้นในดิน นอกจากนี้เกษตรกรควรตรวจสอบซ่อมแซมบ้านเรือนและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันความเสียหายจากลมกระโชกแรงโดยเฉพาะช่วงวันที่ 8-9 เม.ย.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ช่วงวันที่ 7-9 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และลมกระโชกแรงกับลูกเห็บตกบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งซ่อมแซมบ้านเรือนให้แข็งแรงเนื่องจากสภาวะดังกล่าว เนื่องจากระยะนี้อากาศร้อนอบอ้าว ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือใช้น้ำฉีดรดบริเวณหลังคา เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน

ภาคกลาง

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเป็นแห่งๆ สำหรับบริเวณที่อากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลระดับน้ำในบ่อเลี้ยงอย่าให้ลดต่ำมาก เพื่อป้องกันอุณหภูมิและสภาพน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนสัตว์ปรับตัวไม่ทัน เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรเติมออกซิเจนให้น้ำในบ่อ นอกจากนี้ควรจัดทำร่มเงาให้สัตว์หลบพักอาศัยในช่วงที่มีแสงแดดจัด

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนและฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส และในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเป็นแห่งๆ สำหรับบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรตรวจสอบวัสดุที่ใช้ผูกยึดและค้ำยันกิ่งไม้ผลให้แข็งแรง โดยเฉพาะกิ่งที่รับน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาด เมื่อมีลมกระโชกแรง นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชสม่ำเสมอ และคลุมโคนต้นพืชเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เพื่อป้องกันผลแคระแกร็นและร่วงหล่น

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาคเกือบตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 5-6 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งถึงกระจาย และในช่วงวันที่ 7-11 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรต่อไป ส่วนทางตอนบนของภาคปริมาณฝนที่ตกมีน้อยอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ชาวสวนควรดูแลให้น้ำแก่ไม้ผลที่กำลังออกดอกและติดผลอ่อนอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันดอกและผลอ่อนร่วงหล่น รวมทั้งคลุมบริเวณโคนต้นเพื่อสงวนความชื้นในดิน

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ