พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 11 มิถุนายน 2553 - 17 มิถุนายน 2553

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2010 14:42 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 11 มิถุนายน 2553 - 17 มิถุนายน 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 11-14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายส่วนมากทางตอนบนของภาค ระยะนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลและเก็บเกี่ยว เกษตรกรควรเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นและเน่าเสียไปทำลาย หากปล่อยไว้จะกลายเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา ส่วนผู้ที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์หรือชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้ใช้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 11-14 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนมากทางตอนบนของภาค ระยะนี้จะยังคงมีฝนตกชุกทางตอนบนของภาค เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนลดลง

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง ระยะนี้ฝนที่ตกส่วนใหญ่จะมีปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง เกษตรกรควรดูแลต้นข้าวและต้นกล้าของพืชไร่ให้ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้เริ่มเพาะปลูกข้าวควรชะลอไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงเจริญเติบโต

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดควรป้องกันกำจัดโรคราสนิมและโรคราน้ำค้างซึ่งอาจระบาดได้ในระยะนี้ สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่ง แล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในฤดูฝน ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำฝนสำรองไว้ใช้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายส่วนมากทางตอนบนของภาคตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง ระยะที่ผ่านมาทางตอนล่างของภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกน้อย ประกอบกับช่วงนี้บริเวณดังกล่าวจะยังคงมีฝนไม่มาก เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชที่กำลังเจริญเติบโต ส่วนทางฝั่งตะวันตกจะมีฝนลดลงกว่าระยะที่ผ่านมา แต่สภาพอากาศยังมีความชื้นสูง ชาวสวนผลไม้ควรทำความสะอาดบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคพืชต่างๆ โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ