พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 7 - 13 กรกฎาคม 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday July 7, 2010 15:46 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 07 กรกฎาคม 2553 - 13 กรกฎาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 7 - 8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับระยะปลายช่วงจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรระวังและป้องกันความเสียหายจากฝนที่ตก และควรกำจัดผลที่เน่าเสียและร่วงหล่น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในสวน จนกลายเป็นแหล่งเพาะโรคและแมลงศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 7 - 8 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ในช่วงวันที่ 9 -13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกน้อยโดยเฉพาะบริเวณตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค เกษตรกรที่ปลูกพืชผักควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพืชที่อยู่ในระยะกล้า เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำจนชะงักการเจริญเติบโต ลำต้นแคระแกร็น ทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพ รวมทั้งคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชเพื่อสงวนความชื้นในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 10 -13 ก .ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรควรที่เพาะปลูกกล้วยไม้ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง และไม่ควรปลูกให้หนาแน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้น ป้องกันการระบาดของโรคพืชจำพวกเชื้อรา เช่น โรคเน่าดำและโรคเน่าเละ เป็นต้น โดยควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบต้นที่เป็นโรคควรรีบแยกออกมาทำลาย เพื่อไม่ให้การระบาดลุกลามไปยังต้นอื่น

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 13 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับชาวสวนยางพาราควรดูแลบริเวณสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้น ป้องกันโรคพืชจำพวกเชื้อราซึ่งมักระบาดในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ส่วนผู้ที่ต้องการย้ายปลูกสับปะรดในช่วงนี้ควรยกร่องแปลงปลูกให้สูง และชุบหน่อพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรที่ปลูกกาแฟควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราสนิมและโรคราใบจุด ซึ่งอาจระบาดได้ง่ายในสภาพอากาศมีความชื้นสูง ส่วนไม้ผลที่กำลังเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรตรวจซ่อมวัสดุที่ใช้ค้ำยันโดยเฉพาะกิ่งที่รับน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันกิ่งฉีกขาดเสียหาย ขณะมีฝนตกหนัก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ