พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 19 - 25 กรกฎาคม 2553

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 2010 14:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 19 กรกฎาคม 2553 - 25 กรกฎาคม 2553

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-20 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ต่อจากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาด เชิงเขา และที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลควรระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนที่ตกหนักในช่วงวันที่ 19-20 ก.ค. ส่วนสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง อาจทำให้เกิดโรคพืชจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคผลเน่าในลำไย เกษตรกรควรป้องกันกำจัดโรคดังกล่าว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 19-22 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย และในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่ง ฝนที่ตกในระยะนี้จะช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในระยะที่ผ่านมา ส่วนสัตว์เลี้ยง เช่น โคและกระบือไม่ควรปล่อยให้อยู่ในที่ชื้นแฉะ เพราะอาจป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ รวมทั้งควรหมั่นสังเกต หากพบสัตว์ที่ป่วยควรแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษา

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 19-22 ก .ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย เนื่องจากการกระจายของฝนในระยะนี้ยังไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานจึงไม่ควรลงมือปลูกข้าวในระยะนี้ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ควรหมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำจากพืชไร่ นอกจากนี้เกษตรกรควรกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 19-22 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ชาวสวนผลไม้ควรจัดทำทางระบายน้ำในแปลงปลูก อย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวณรากและโคนต้น เพราะอาจทำให้เกิดโรครากเน่าและโคนเน่า สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชไร่ เช่น ถั่วต่างๆ ควรทำให้แห้งก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลาย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายตลอดช่วง ส่วนฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 19-23 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูก ส่วนบริเวณสวนยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสมในสวน ป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคราสีชมพู เป็นต้น อนึ่งในช่วงวันที่ 19-20 ก.ค. บริเวณทะเลอันดามันคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

คำพยากรณ์ รวมอยู่ในส่วนของ ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)แล้ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ