Economic Report: โลกและประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงอะไรในปี 2556 - ทริสเรทติ้ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 10, 2014 09:09 —ทริส เรตติ้ง

ย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 2556 ผู้คนส่วนใหญ่มีความคาดหวังสูงกับเศรษฐกิจไทย จากอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ที่ระดับ 19.1% และอัตราการขยายตัวทั้งปี 2555 ที่ 6.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวที่ชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จากผลของมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้มีการคาดการณ์อัตราการขยายตัวปี 2556 ที่ค่อนข้างสูงที่ 4.6% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand_BOT) และ 4.5-5.5% โดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (Office of National Economic and Social Development Board_NESDB)

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการทั้งจากภายในและภายนอก และบางปัจจัยเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว แต่บางปัจจัยเป็นสิ่งที่นอกเหนือการคาดคะเนทำให้มีการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเห็นได้จากการปรับประมาณการหลายครั้งของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญสองแห่งคือ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม และธนาคารแห่งประเทศไทย

ในบทความนี้ ทริสเรทติ้ง จะสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญในโลกและประเทศไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา และในตอนท้าย ทริสเรทติ้ง จะเสนอมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตในปีที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2557

ทริสเรทติ้งสรุปเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2556

ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมานั้น มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

I. มกราคม: นโยบายรถคันแรกกระทบยอดขายรถยนต์ใหม่และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

นโยบายให้การสนับสนุนด้านภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี 2555 ขยายตัวสูงถึง 80% จาก 7.9 แสนคัน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 1.4 ล้านคัน ในปี 2555 ซึ่งทำให้คาดการณ์กันว่าความต้องการรถยนต์จำนวนหนึ่งได้ถูกตอบสนองไปล่วงหน้า และทำให้ผู้ผลิตรถยนต์คาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2556 จะชะลอตัวลงประมาณ 10% แต่ปรากฏว่ายอดขายรถยนต์ 11 เดือนแรกของปี 2556 มีการลดลงไม่มากนัก คือมีจำนวนรวมประมาณ 1.2 ล้านคัน ลดลงเพียง 5.8% จากยอดขายรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากการส่งมอบรถยนต์จากมาตรการรถยนต์คันแรกยังคงมีอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายรถที่มีมากของปี 2556 มีแนวโน้มลดลงมากในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ ผลจากนโยบายรถยนต์คันแรกยังทำให้ยอดสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง ได้รวบรวมข้อมูลจากบริษัทที่ให้สินเชื่อเช่าชื้อรถยนต์ทั้งหมด (ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อ) พบว่ายอดคงเหลือการให้สินเชื่อรถยนต์รวมขยายตัวถึง 38% ในปี 2555 และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในปี 2556 ที่ประมาณ 15%

II. มกราคม: การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ได้มีการทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2555 ใน 7 จังหวัดนำร่อง ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดอื่น ๆ ที่เหลืออีก 70 จังหวัด ได้ปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศสูงขึ้นประมาณ 23% ในปี 2556 และผลกระทบต่อระดับอัตราค่าจ้างในบางจังหวัดสูงกว่า 30% เนื่องจากฐานอัตราเงินเดือนขั้นต่ำเดิมที่น้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตของธุรกิจสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานมาก เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรร ผู้รับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก และสายการบิน เป็นต้น ซึ่งทริสเรทติ้งประมาณการว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ประมาณ 20-40% ของต้นทุนของกิจการ

ทริสเรทติ้งพบว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมีบทบาทสำคัญในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งมีสัดส่วนค่าจ้างแรงงานประมาณ 35% ของค่าก่อสร้างรวม ในขณะที่ผู้รับเหมาก่อสร้างก็ต้องรับภาระค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นจากมาตรการนี้เช่นกัน อีกทั้งยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยที่ทำให้ต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามามาก

ทริสเรทติ้งยังพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจค้าสินค้าประเภทวัสดุตกแต่ง และซ่อมแซมบ้าน มีการใช้แรงงานค่อนข้างมากคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของต้นทุนการผลิตรวม และในช่วงสองปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายแรงงานสูงขึ้นมากกว่า 20% เนื่องจากการขยายธุรกิจ การเปิดสาขาเพิ่มขึ้นและการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราค่าจ้าง

III. มีนาคม: การปรับลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ หรือ Sequestration ของสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากอัตราหนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯ มีปริมาณสูงขึ้นจนเข้าใกล้เพดานมาตั้งแต่ปี 2555 และสภาคองเกรสไม่สามารถลดการใชัจ่ายจำนวน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงได้ ดังนั้นกฏหมาย Budget Control Act ของสหรัฐฯ จึงบังคับรัฐบาลให้จำกัดการใช้จ่าย โดยการปรับลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ หรือ Sequestration เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 คือการทยอยตัดงบประมาณลง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 7 เดือน (มีนาคม-กันยายน) และเป็นการลดงบแบบเฉพาะด้าน ทำให้เหตการณ์นี้ไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นในทันที ทั้ง Dow Jones, S&P 500, NASDAQ หรือแม้แต่ SET ของไทย

การตัดลดงบประมาณดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในอัตราที่ลดลง จากที่เคยเติบโต 3.1% ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือเพียง 1.6% ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 เศรษฐกิจที่ชะลอตัวของสหัฐอเมริกาทำให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยการเติบโตการส่งออกสินค้ารายเดือนจากไทยไปสหรัฐในปี 2556 ในช่วง 11 เดือนแรกมีมูลค่า 21,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ในช่วงเวลาเดียวกันเล็กน้อยเพียง 0.5% ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 5.9% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย

IV. เมษายน: การปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ทำให้ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของไทยไม่สูงขึ้นมากนัก

การอ่อนตัวลงของการบริโภคของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศจีน ในขณะที่อุปทานของสินค้ายังขยายตัว ส่งผลให้เกิดการปรับลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ซึ่งรวมถึงราคาสินค้าเกษตรพื้นฐาน น้ำมัน และสินแร่ต่าง ๆ ในตลาดโลกและในประเทศไทย

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีการปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสทิ่ 2 ของปี 2556 ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบ ราคาของสินแร่ต่าง ๆ และราคาสินค้าเกษตรพื้นฐานปรับลดลง โดยเฉพาะราคา ทองคำ ถ่านหิน ยางพารา น้ำตาล และข้าว ปรับลดลงค่อนข้างมาก

การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวกระทบต่อผลประกอบการและอัตรากำไรของผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการขยายการลงทุนในปี 2556 ทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นจากปี 2555 ค่อนข้างมาก

V. เมษายน: การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจของประเทศจีนมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งการชะลอการลงทุนในประเทศ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เศรษฐกิจของประเทศจีนขยายตัวต่ำกว่า 8% เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี (ตั้งแต่ปี 2542) การอ่อนตัวของเศรษฐกิจของจีนประกอบกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้การส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปประเทศจีนมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยในช่วง 11 เดือนแรกมีการขยายตัวเพียง 0.03% เปรียบเทียบกับยอดการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของประเทศไทยไปประเทศจีนในช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีอัตราการขยายตัว 1.7%

VI. มิถุนายน: นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ของสหรัฐฯ

จากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปี 2551 ของสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้นำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing_QE) มาใช้ทั้งสิ้น 3 ครั้งเพื่อเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบ โดยใช้ QE ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2551 และครั้งที่สองเมื่อปลายปี 2553 ซึ่งการใช้ QE แต่ละครั้งมีวิธีการแตกต่างกันไป สำหรับการใช้ QE ครั้งที่ 3 ธนาคารสหรัฐฯ อัดฉีดเงินจำนวน 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนด้วยวิธีการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2555 ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปี โดยอัตราสูงสุดที่ 28.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 20 เมษายน 2556 ส่งผลให้การส่งออกของเดือนเมษายนมีมูลค่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปีเดียวกัน และการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 หดตัวลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 อันเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2553 และลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัว 3.0% ในปี 2555

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มัสัญญานการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ในวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศปรับลดการอัดฉีดปริมาณเงินตามนโยบาย QE จาก 85 พันล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน และจะยกเลิกภายในปี 2557 ส่งผลให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับลดลง 658.67 จุดในช่วงวันที่ 18-24 มิถุนายน (จาก 15,318.23 เหลือ 14,659.56) ราคาทองคำโลกลดลงต่ำกว่า 1,300 ดอลล่าร์/ออนซ์ ในวันที่ 20 มิถุนายน และ SET Index ที่เคยขึ้นสูงถึง 1,600 จุดในช่วงเดือนก่อนหน้าปรับลดลงเหลือประมาณ 1,400 จุด ในเดือนมิถุนายนทั้งเดือนมีมูลค่าการขายหุ้นที่ถือโดยชาวต่างชาติถึง 3.2 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าการขายหุ้นของชาวต่างชาติรายเดือนที่สูงที่สุดของตลาดหุ้นไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้ จนในที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2556 ทางธนาคารกลางสหรัฐได้ตัดสินใจขยายระยะเวลา QEออกไปอีก

VII. กันยายน: อุทกภัยใน 42 จังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ

จากการรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประเทศไทยประสบอุทกภัยใน 42 จังหวัด ในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ถึง ตุลาคม 2556 ผลกระทบที่สำคัญอันหนึ่งคือการเกิดน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมด้านตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซึ่งนิคมนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 การเกิดน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และภาคตะวันออกของประเทศไทย มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุทกภัยได้รับการแก้ไขในระยะสั้น ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก

VIII. ตุลาคม: การหยุดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ (Government Shutdown)

จากปัญหาความขัดแย้งของสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ พรรค Democrat กับพรรคฝ่ายค้าน Republican ในเรื่องนโยบาย ObamaCare ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถผ่านงบประมาณประจำปี 2557 ได้ทันในเดือนกันยายน อันเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถนำเงินงบประมาณของปี 2557 มาใช้ได้ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการหน่วยงานของรัฐบาลกลางต่าง ๆ เป็นสาเหตุให้เกิดการหยุดให้บริการของหน่วยราชการบางแห่งของรัฐบาลกลางเป็นการชั่วคราว (Government Shutdown) ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 17 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นการหยุดทำการครั้งแรกในรอบ 15 ปี กระทบต่อ คนงานที่ไม่ได้รับรายได้ประมาณ 8 แสนคน ประเมินความเสียหายโดย บริษัทวิจัยการลงทุน IHS Global Insight เท่ากับ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน ซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่ชัดเจนที่สุดคือค่าเงินบาทที่ผันผวนในช่วง 17 วันนั้น แต่ในทางตรงกันข้ามปรากฏว่าไม่มีผลกระทบต่อราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่น่าจะชัดเจนคือความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่น่าจะลดลงจากปัญหาทางด้านการเมืองดังกล่าว ที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดเวลาของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ ภายหลังจากการเจรจาระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองทำให้มีการขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2557 และขยายเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้เป็นที่จับตามองว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะสามารถหาทางออกต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไรต่อไป และจะมีผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงหรือไม่

IX. ตุลาคม: เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยได้เข้าสู่บรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีเวทีการชุมนุมอยู่ที่สวนลุมพินี แต่การชุมนุมทางการเมืองได้ทวีความเข้มข้นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2556 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนจำนวนมาก และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการประสานกับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว. ว่าการพิจารณาและการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายรัฐบาลได้แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การชุมนุมทางการเมืองจึงทวีความรุนแรงขึ้นอีก โดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นการให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจการปกครองประเทศ มีการแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลโดยการออกมาชุมนุมของประชาชนจำนวนมากในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 และการเดินอารยะของผู้ชุมนุมจากหลายเส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทำให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาในวันเดียวกันนั้น

จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการภายหลังจากการยุบสภา และรัฐบาลรักษาการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้ผู้ชุมนุมยังชุมนุมต่อไปเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และได้แสดงการต่อต้านรัฐบาลรักษาการโดยการจัดการชุมนุมตามสี่แยกที่สำคัญ 5 แห่งในกรุงเทพฯ เป็นเวลาครึ่งวันในวันที่ 22 ธันวาคม 2556 ล่าสุดผู้ชุมนุมมีการนัดหมายจะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 13 มกราคม 2557 นี้ที่เรียกว่า ปิดกรุงเทพ (Occupied Bangkok) โดยจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการจะลาออก โดยจะมีการจัดเวทีชุมนุมใน 7 จุดตัดของถนนหลัก ๆ ในกรุงเทพฯ และจะปิดถนนส่วนใหญ่ แต่การเดินทางโดยยานพาหนะสาธารณะยังทำได้เป็นปกติ

จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ดูจะรุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนอย่างน้อยในระยะสั้น ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร และสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพอาจมีผลประกอบการที่อ่อนตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนไม่มากก็อาจจะต้องปิดกิจการไป ทั้งนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่รายงานโดยกรมการท่องเที่ยว พบว่าการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวมีการชะลอตัวลง อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 เท่ากับ 11.9% ต่ำกว่าอัตราซึ่งเท่ากับ 14.7% ในเดือนตุลาคม และ 27.6% ในเดือนกันยายน

อนึ่ง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2556 สถาบันจัดอันดับเครดิตสแตนด์ดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) ได้ประกาศยืนยันอันดับเครดิตของประเทศไทยระยะยาวที่ระดับ BBB+ (สกุลเงินต่างประเทศ) และ A- (สกุลเงินท้องถิ่น) โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) S&P ให้ความเห็นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เครดิตของไทยถดถอยลงในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน การคลัง เศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยจะสามารถรองรับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันไปได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ S&P อาจลดอันดับเครดิตของไทยลง ถ้าความมั่นคงของการเมืองและรัฐบาลอ่อนแอลงมากกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา หรือถ้าฐานะการคลังของประเทศหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทริสเรทติ้งมีความเห็นเกี่ยวกับอันดับเครดิตในปี 2556 และแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2557 อย่างไร

จากเหตุการณ์ผันผวนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2555 โดยล่าสุด NESDB ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะมีอัตราการเติบโตไม่เกิน 3% โดยมีปัจจัยหลักจากการชะลอตัวลงของภาคการลงทุน และการบริโภคในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไม่สามารถเป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างที่คาดหวัง โดยประมาณการว่าจะขยายตัว 0% รวมทั้งปัญหาทางการเมืองที่ทำให้เกิดความไม่แน่ใจและชะลอการลงทุน และการใช้สอยลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ในปี 2556 ทริสเรทติ้งได้ประกาศอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 131 ราย แบ่งออกเป็น อันดับเครดิตใหม่ 22 ราย อันดับเครดิตคงเดิม 89 ราย ปรับอันดับเครดิตขึ้น 12 ราย และลดอันดับเครดิตลง 8 ราย สัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตมีทิศทางเพิ่มขึ้นในปี 2556 จากปี 2555 ผู้ประกอบการที่ได้รับอันดับเครดิตคงเดิมในปี 2556 คิดเป็น 67.9% ลดลงจาก 77.4% ในปีก่อนหน้านี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15.3% จากเดิมที่ 8.7%

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตดังกล่าวข้างต้น บางส่วนเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และการส่งออก เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่กระทบต่ออันดับเครดิตบางส่วนมาจากผลของการบริหารธุรกิจภายในของผู้ประกอบการที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการชำระหนี้จากที่เคยคาดการณ์ไว้

แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2557

อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในปี 2557 จากปัจจัยภายในประเทศ อันได้แก่ ระดับความรุนแรงและความยาวนานของการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ที่น่าจะกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยว นอกจากนั้น ผลกระทบทางการเมืองยังอาจกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท เป็นต้น และโอกาสที่จะกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะต้องจับตาดูถึงโอกาสการดำเนินโครงการตามเป้าหมายของรัฐบาลต่อไปรวมถึง ผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการค้าขายกับต่างประเทศนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในส่วนของการส่งออกสินค้าในตลาดโลก ตามการคาดการณ์การขยายตัวของระดับการค้าโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund_IMF) ให้ไว้ที่ระดับ 4.9% (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่เท่ากับ 2.9%) ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มดีขึ้น มาอยู่ที่ 3.6% (จากปี 2556 ที่ระดับ 2.9%) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

นพลักษณ์ รักธรรม

nopalak@trisrating.com

เรืองวุฒิ จารุรังสีพงค์

ruangwud@trisrating.com

ภารัต มหัทธโน

parat@trisrating.com

ประภัทร น้อยโสภา

papat@trisrating.com

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ