ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” ที่ “BBB” และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ “BBB-” พร้อมปรับแนวโน้ม เป็น “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 28, 2016 13:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)ที่ระดับ “BBB” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” แต่ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ต่ำกว่าคาดและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลง ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB-” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้หุ้นกู้เดิมและหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่จะครบกำหนด

อันดับเครดิตที่ระดับ “BBB” สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอที่บริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement – PPA) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากอัตราการก่อหนี้ในระดับสูงของบริษัทและการทำรายการระหว่างกันของบริษัทในกลุ่ม นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating) ของทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตของบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทเนื่องจากมีกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นกลุ่มเดียวกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทและความสามารถในการชำระหนี้กลับมาอยู่ในระดับปกติ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทไม่ดีขึ้นภายในปี 2560 นอกจากนี้ โครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอก็เป็นปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับอิทธิพลจากอันดับเครดิตของ บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เนื่องจากมีกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นกลุ่มเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทย โดยมี บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 25.5% ณ เดือนตุลาคม 2559 บริษัทและ บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกันคือกลุ่มนายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์และคณะซึ่งปัจจุบันถือหุ้นบริษัทอยู่ 83.7% และถือหุ้น บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) อยู่ 87.8% บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าชีวมวลและถ่านหินรวม 9 แห่งภายใต้โครงการ SPP ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 601 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 1,339 ตันต่อชั่วโมง โดยกำลังการผลิตรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 726 เมกะวัตต์ในปี 2560 หลังจากโรงไฟฟ้าแห่งที่ 10 ของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานและธุรกิจสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งเชื้อเพลิงและเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย

ธุรกิจไฟฟ้าเป็นแหล่งรายได้และแหล่งกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2558 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทในสัดส่วน 80%-85% มาจากธุรกิจไฟฟ้า ในขณะที่ 15%-20% มาจากธุรกิจอื่น ๆ

บริษัทมีสัญญา PPA อายุ 25 ปีกับ กฟผ. จำนวน 304 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือภายใต้สัญญาระยะยาวให้แก่บริษัทดั๊บเบิ้ล เอ (1991) และบริษัทในเครือ และจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทราด้วย โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและชีวมวล แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็ต้องการการบำรุงรักษามากกว่าและมีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

ในปี 2558 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีระดับความพร้อมจ่ายเฉลี่ยที่ 84.8% ในขณะที่อัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินอยู่ที่ระดับ 6.4% โดยอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินที่สูงส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่งของบริษัทประสบปัญหาเครื่องจักรขัดข้องและอีก 1 แห่งหยุดเดินเครื่องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีระดับความพร้อมจ่ายที่ 85.5% และมีอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินอยู่ที่ระดับ 4.2% ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างปกติเมื่อเทียบกับการดำเนินงานในช่วงปี 2554-2557 ที่มีอัตราการหยุดซ่อมฉุกเฉินอยู่ระหว่าง 3.6%-5.3% อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าค่อนข้างต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยพิจารณาจากอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งอัตราดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ 13,100 บีทียู (British Thermal Units Per Kilowatt Hour Equivalent) ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเทียบเท่า (บีทียูต่อหน่วยเทียบเท่า -- BTU/kWhe) เป็น 13,464 BTU/kWhe ในปี 2558 และ 13,699 BTU/kWhe ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 โดยอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นบ่งชี้ถึงการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้พลังงานไฟฟ้า 1 kWhe

ผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงในปี 2558 ถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 อันเป็นผลจากปัญหาของเครื่องจักรและราคาขายไฟฟ้าที่ลดลง บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ลดลงจาก 28.1% ในปี 2557 เหลือ 23.1% ในปี 2558 และลดลงต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เหลือ 19.9% เนื่องจากตาม PPA ของบริษัท ราคาขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. นั้นจะปรับขึ้นลงตามราคาถ่านหิน น้ำมันเตา และก๊าซธรรมชาติ โดยราคาขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทภายใต้ PPA จำนวน 180 เมกะวัตต์หรือ 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทนั้นจะปรับตามราคาถ่านหิน 75% ซึ่งมีกลไกส่งผ่านภาระค่าเชื้อเพลิงไปให้แก่ กฟผ. ส่วนราคาขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เหลือจะปรับตามราคาน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติแม้ว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิต ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากและอยู่ในระดับต่ำในช่วงปี 2557-2559 นั้นเป็นผลทำให้ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยให้แก่ กฟผ. ลดลง ในขณะเดียวกัน ค่าไฟฟ้าแปรผันหรือค่า Ft ก็ปรับลดลงซึ่งส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงด้วย ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลไม่ได้ลดลงมากเท่ากับราคาน้ำมัน เป็นผลให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีอัตรากำไรที่น้อยลง นอกจากนี้ ผลขาดทุนจากธุรกิจเดินเรือและการผลิตเอทานอลยังมีส่วนทำให้กำไรของบริษัทลดลงด้วย โดยบริษัทมี EBITDA ลดลงจาก 4,322 ล้านบาทในปี 2557 เหลือ 2,967 ล้านบาทในปี 2558 และสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทมี EBITDA 1,956 ล้านบาท หรือลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 19,921 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 22,278 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจากการลงทุนต่อเนื่องของบริษัท กำไรสุทธิที่ลดลงประกอบกับการจ่ายเงินปันผลที่มากกว่า 200% ของกำไรสุทธิเป็นผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทสูงขึ้นเป็น 70.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 เทียบกับ 64.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 ความสามารถชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากกำไรที่ลดลงและภาระหนี้ที่สูงขึ้น อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจึงปรับตัวลดลงเป็น 2.4 เท่าในปี 2558 และ 2.1 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 จากระดับเฉลี่ย 3-4 เท่าในปี 2554-2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ลดลงเป็น 9.0% ในปี 2558 และ 6.9% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีด้วยผลการดำเนินงาน 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 โดยลดลงจากระดับประมาณ 17% ในปี 2554-2557

ตั้งแต่ปี 2551 บริษัทได้จ่ายเงินมัดจำค่าที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในอนาคตให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดย ณ เดือนกันยายน 2559 บริษัทมีเงินค่ามัดจำที่จ่ายเพื่อซื้อที่ดินสำหรับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ หรือ IPP (Independent Power Producer) ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องรวม 1,768 ล้านบาท ราคาซื้อที่ดินดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินไว้ที่ 678 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณพื้นที่ของที่ดินที่จะซื้อและราคาซื้อขายสุดท้ายจะอ้างอิงจากราคาประเมินล่าสุดซึ่งจะมีการสรุปหลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตที่กำหนดตามสัญญา

คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2560 เมื่อเทียบกับระดับที่ต่ำในปี 2559 แม้ในระยะสั้นจะมีแรงกดดันจากราคาถ่านหินที่สูงขึ้นและราคาขายไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรและการบริหารเป็นแบบรวมศูนย์สำหรับการบริหารโรงไฟฟ้าและการจัดซื้อเชื้อเพลิงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและลดต้นทุน นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับแผนตรวจสอบเครื่องจักรเพื่อให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย โดยแผนพัฒนาดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2559 และบริษัทคาดว่าจะเริ่มได้รับประโยชน์จากแผนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ส่วนในระยะยาวนั้นคาดว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้บริษัทได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ระดับหนี้เงินกู้ของบริษัทคาดว่าน่าจะทยอยลดลงเป็นลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ จากสมมติฐานกรณีฐานคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานปีละ 2,100- 2,700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2561 รวมกับเงินสดในมืออีกประมาณ 600 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประมาณ 600-1,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะต้องกู้เงินบางส่วนเพื่อนำมาใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ มูลค่ารวมประมาณ 1,100-1,800 ล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทุกปี โดยในปี 2560 มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมกราคมและตุลาคม 2560 มูลค่ารวม 3,968 ล้านบาท

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
NPS171A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,718 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB-
NPS184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB-
NPS19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB-
NPS218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2559 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ