ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” ที่ “A” & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 25, 2018 15:20 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วย โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 1 ระดับเนื่องจากมีลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) เมื่อเทียบกับเงินกู้ปัจจุบันของบริษัทย่อย สำหรับเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระคืนหนี้ที่กำลังจะครบกำหนด และนำใช้เป็นเงินลงทุนของบริษัท

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA/Stable” จากทริสเรทติ้ง) และผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ 2 แห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) ของบริษัท รวมถึงภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในช่วงพัฒนาโครงการต่าง ๆ อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีสัญญาซื้อขายกับ กฟผ. ทั้งสิ้นจำนวน 9,931 เมกะวัตต์ โดยบริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซภายใต้โครงการ IPP จำนวน 4 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งสิ้น 8,200 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 83% ของกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อีก 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งสิ้น 1,710 เมกะวัตต์ (หรือประมาณ 17% ของกำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด) และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญา 21 เมกะวัตต์ด้วย ปัจจุบันโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 4,770 เมกะวัตต์ได้เปิดดำเนินงานแล้ว ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างจะเพิ่มกำลังการผลิตตามสัญญาให้แก่บริษัทอีก 6,329 เมกะวัตต์ บริษัทคาดว่าโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปลายปี 2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่สุดที่มีโรงไฟฟ้าเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทนั้นจะเพิ่มเป็น 6,534 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 จาก 2,187

เมกะวัตต์ ณ เดือนกันยายน 2561 โดยประมาณ 90% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่บริษัทลงทุนนั้นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.

การลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี

การลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี โดย ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมด 31 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าทั้ง 31 แห่งดังกล่าวมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งสิ้น 6,534 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า 20 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,187 เมกะวัตต์ได้เปิดดำเนินงานแล้ว ส่วนโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง

โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงของบริษัทมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 6,450 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 99% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัท ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 84 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม

โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจำนวน 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 1,231 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-cycle) ภายใต้โครงการ IPP อีก 4 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 5,072 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นนั้นตั้งกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) จำนวน 7 โรง ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี อยุธยา และระยอง

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญามีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทตราบเท่าที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัท แต่ กฟผ. ก็ยังคงต้องจ่ายชำระในส่วนของค่า AP ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP นั้นจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยภายใต้สัญญา SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

ความเสี่ยงจากการดำเนินงานบรรเทาลงด้วยการมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ระยะยาว

โรงไฟฟ้าของบริษัทใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง เช่น Siemens รวมถึง GE และ Mitsubishi นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ระยะยาว (Long-term Service Agreements -- LTSA) และสัญญาจัดหาอะไหล่ระยะยาว (Long-term Parts Agreement -- LTPA) กับผู้ผลิตอีกด้วย โดยสัญญาบริการต่าง ๆ เหล่านี้มีอายุเท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. การมีสัญญาบริการเหล่านี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการรับบริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้า รวมถึงช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญ การมีโรงไฟฟ้า SPP ที่มีรูปแบบเหมือนกันรวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่แบบรวมศูนย์ยังช่วยให้บริษัทมีอะไหล่ที่เพียงพอและยังสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

มีประวัติการดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่น่าเชื่อถือ

คณะผู้บริหารและคณะผู้ปฏิบัติการของบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี คณะผู้บริหารได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารโครงการโดยทุกโครงการของบริษัทที่ปัจจุบันเปิดดำเนินงานแล้วล้วนมีประวัติการเปิดดำเนินงานได้ตรงตามเวลาและภายในงบประมาณที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ความเสี่ยงจากการก่อสร้างบรรเทาลงได้จากการมีผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าอยู่หลายโครงการ บริษัทมีวิธีบรรเทาความเสี่ยงจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction – EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง โดยบริษัทได้เลือก Toyo Engineering Corporation เป็นผู้รับเหมา EPC สำหรับโรงไฟฟ้า SPP แห่งใหม่ของบริษัทจำนวน 5 แห่ง ทั้งนี้ Toyo Engineering Corporation ได้เคยก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ให้แก่บริษัทมาแล้ว 7 แห่งโดยสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายและอยู่ภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้

Mitsubishi Hitachi Power System (MHPS) ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้รับเหมา EPC สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่ของบริษัทจำนวน 2 แห่งด้วยเช่นกัน MHPS ก็มีประวัติผลงานที่ดีโดยได้เคยก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ให้แก่บริษัทมาแล้ว 2 แห่งซึ่งสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและอยู่ภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้เช่นกัน

ภาระหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายงานขนาดใหญ่

ในช่วงเวลาประมาณการระหว่างปี 2561-2567 คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 128,000 ล้านบาท โดยประมาณ 113,000 ล้านบาทจะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทให้แล้วเสร็จ อีกประมาณ 7,200 ล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศโอมาน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 8,100 ล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในประเทศเวียดนาม รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย

โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 แห่งของบริษัทเริ่มทยอยดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 จนถึงเดือนกันยายน 2561 ส่วนโรงไฟฟ้า SPP อีก 5 แห่งจะเริ่มเปิดดำเนินงานในช่วงปลายปี 2561 ไปจนถึงกลางปี 2562 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ IPP ขนาดใหญ่อีก 2 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ด้วยมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาทด้วย คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2561 โดยหน่วยผลิตไฟฟ้าหน่วยแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในช่วงกลางปี 2564 ในขณะที่หน่วยผลิตหน่วยสุดท้ายจะเริ่มดำเนินงานได้ภายในสิ้นปี 2567

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและแผนสำหรับโครงการใหม่ ๆ แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 70% ในช่วงระหว่างปี 2563-2566 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 10 เท่า แต่ก็คาดว่าอัตราส่วนนี้จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายลงที่ 3-4 เท่าภายในปี 2568 เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทเปิดดำเนินงาน

ช่วงเก็บเกี่ยวผลกำไรจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

คาดว่าบริษัทจะเริ่มรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้า SPP และ IPP ได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า เป็นประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2563 จาก 2,700 ล้านบาทในปี 2560 หลังจากที่โรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมดของบริษัทเปิดดำเนินงานครบทุกแห่ง และคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งเป็นประมาณ 25,000 ล้านบาทในปี 2568 เมื่อโครงการ IPP ทั้ง 2 แห่งของบริษัทเปิดดำเนินงานเต็มปีเป็นปีแรก

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการดำเนินงานอย่างราบรื่นและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสที่บริษัทจะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัด ในขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากผลของการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของบริษัทที่ล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้การก่อหนี้จนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงไปอีกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกดดันอันดับเครดิตของบริษัทได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2561 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ