ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 7, 2019 17:55 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ “BBB+” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู (TRUE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+/Stable” จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนสถานะในการแข่งขันที่ดีของบริษัทในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาจส่งผลทำให้ความสามารถในการสร้างรายได้จากการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่และโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมของบริษัทชะลอตัวลง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรู

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยหลักที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทรู (TRUE Group) โดยในปี 2561 บริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายได้รวมของกลุ่มทรู

การดำเนินงานของทั้งทรูและบริษัทมีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ในช่วงปี 2554-2557 ทรูได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทในรูปของการเพิ่มทุนมูลค่ารวมประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท และในเดือนมิถุนายน 2559 ทรูยังได้เพิ่มทุนอีกจำนวน 6 หมื่นล้านบาทให้แก่บริษัทเพื่อสนับสนุนการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์อีกด้วย

สถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้แบรนด์ “ทรู” โดยบริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “TrueMove H” นอกจากนี้ ร้านค้าของทรูยังได้รวมบริการทั้งหมดของทรูซึ่งได้แก่ “ทรูออนไลน์” (TrueOnline) และ “ทรูวิชั่นส์” (TrueVisions) เข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย ทั้งนี้ การสนับสนุนจากทรูช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ดังนั้น สถานะเครดิตของบริษัทจึงมีความเชื่อมโยงกับสถานะเครดิตของทรูอย่างใกล้ชิด

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

สถานะทางธุรกิจของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการลงทุนจำนวนมากทั้งในด้านคลื่นความถี่ การขยายโครงข่าย และคุณภาพของสัญญาณ ตลอดจนการทำการตลาดที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้และจำนวนของผู้ใช้บริการ โดยในปี 2561 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการ 29.2 ล้านเลขหมาย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 32% ของอุตสาหกรรม เทียบกับผู้นำในอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ที่มีสัดส่วน 45% และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ที่มีสัดส่วน 23%

รายได้ของบริษัทจากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม โดยในช่วงปี 2557-2561 รายได้ค่าบริการของบริษัทซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเติบโตโดยเฉลี่ย 16% ต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่อัตรา 3.2% ต่อปี ในปี 2561 บริษัทมีรายได้ค่าบริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28% ของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้ เทียบกับAIS ซึ่งอยู่ที่ 47.8% และ DTAC ซึ่งอยู่ที่ 24.2%

การแข่งขันที่รุนแรงทำให้รายได้เติบโตช้าลง

การเติบโตในระดับสูงของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทในในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ใช้บริการและการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตสูงขึ้น ทริสเรทติ้งก็คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปในอนาคตแต่ด้วยอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าช่วงที่ผ่านมาด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ

ประการแรก จำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่บริษัทได้ลงทุนไปและเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้นเป็นผู้ใช้บริการในกลุ่มเติมเงินซึ่งส่วนมากแล้วจะได้รับการอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ ซึ่งในปี 2562 บริษัทต้องใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 19) ที่ทำให้บริษัทต้องบันทึกต้นทุนค่าอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่าย (จากเดิมที่บันทึกเป็นสินทรัพย์และทยอยตัดจ่ายผ่านทางค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร) ทำให้คาดว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเพิ่มส่วนแบ่งผู้ใช้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเติมเงิน ดังนั้น เพื่อรักษาระดับการเติบโตของรายได้ บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่พร้อมทั้งพยายามย้ายกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินไปเป็นลูกค้าระบบรายเดือนที่มีอัตราการยกเลิกการใช้งานต่ำกว่าและสร้างรายได้ในอัตราที่สูงกว่าให้ได้มากที่สุด

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อไปคือความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรมทำให้ความสามารถของผู้ให้บริการในการที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตด้านข้อมูลดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัด การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ผู้ให้บริการเสนอบริการการใช้งานข้อมูลแบบไม่จำกัด (Unlimited Data Plans) ส่งผลทำให้รายได้ของผู้ให้บริการเติบโตได้ไม่เต็มที่ โดยในปี 2561 ตลาดรวมของธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งวัดจากรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตเพียง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 2.61 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2559-2560

ความต้องการใช้งานด้านข้อมูลจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างไรก็ดี ระดับการแข่งขันก็จะยังคงสูงอยู่ วินัยในการแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ให้บริการได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเติบโตของความต้องการด้านข้อมูลและเป็นปัจจัยหลักในการสร้างรายได้เพื่อจากการลงทุนจำนวนมากในด้านคลื่นความถี่และโครงข่าย

สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 5%-9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดและคุณภาพโครงข่ายของบริษัท สมมติฐานดังกล่าวยังได้รวมถึงการคาดการณ์ว่าการแข่งขันจะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการต่าง ๆ เริ่มยกเลิกการให้บริการการใช้งานข้อมูลแบบไม่จำกัด

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตที่ระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 7.28 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเล็กน้อยอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง

การตกลงระงับข้อพิพาทกับ กสท. ช่วยยุติความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายในหลายกรณี

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 บริษัทได้ทำข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (กสท.) ในหลายกรณี ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานทางการเงินของบริษัทระบุว่าบริษัทได้ตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทหลักให้แก่ กสท. และตกลงจะจ่ายเงินจำนวน 1.57 หมื่นล้านบาทเป็นค่าตอบแทนในการที่บริษัทจะใช้สิทธิ์ในเสาสัญญาณดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวอีก 1.1 พันล้านบาทด้วย ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับ กสท. ในหลาย ๆ กรณีซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมจำนวน 7.5 หมื่นล้านบาทหมดไป

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ โดยที่อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

ผลการดำเนินงานเติบโตจากการควบคุมต้นทุน

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการทำให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่และโครงข่ายที่บริษัทได้ลงทุนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความพยายามของบริษัทที่จะทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตอาจได้รับแรงกดดันจากสภาวะแวดล้อมทางการตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตได้ด้วยความพยายามในการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่การแข่งขันถ้าเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลก็จะเป็นปัจจัยเสริมให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตยิ่งขึ้น

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.08-1.18 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 23%-27% และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 1.5-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในปี 2561 หากไม่รวมรายได้จากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลและรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้ว บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1.07 แสนล้านบาท ลดลง 4% จากปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าเช่าโครงข่ายที่ลดลง ในขณะที่อัตราส่วนกำไรอยู่ที่ระดับ 20% และเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่จำนวน 1.16 หมื่นล้านบาท

การยืดอายุการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ลดความกดดันเรื่องกระแสเงินสด

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเข้าร่วมการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับเงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์และรับการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์

ตารางการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เดิมกำหนดให้บริษัทชำระเงินจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 และ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 แต่ตารางการชำระค่าใบอนุญาตใหม่กำหนดให้บริษัทชำระ 4 พันล้านบาทในปี 2562 และ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และปีละ 7.6 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2568 ซึ่งการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวจะช่วยลดความกดดันด้านกระแสเงินสดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563

อย่างไรก็ดี การที่บริษัทต้องรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์เพื่อแลกกับการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์จะเพิ่มภาระหนี้สินทางการเงินให้แก่บริษัทและจะทำให้โครงสร้างหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าใบอนุญาตใช้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์จะมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท การชำระค่าคลื่นความถี่จะแบ่งออกเป็น 10 งวดและจะเริ่มชำระงวดแรกในช่วงปลายปี 2563 เนื่องจากทริสเรทติ้งถือว่าค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์เป็นหนี้สินทางการเงิน ดังนั้น บริษัทจะมีภาระหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นอีก 2.5 หมื่นล้านบาทเมื่อบริษัทได้รับการจัดสรรใบอนุญาตซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2562

ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากการมีภาระจ่ายชำระค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมาก รวมทั้งค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงาน รวมถึงมีหนี้เพิ่มเติมจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ บริษัทมีการลงทุนก้อนใหญ่ในการขยายโครงข่าย 4G (Fourth Generation) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งได้รับการยกเว้นการชำระค่าลงทุนจากคู่ค้าเป็นเวลา 2 ปีและจะแบ่งชำระเป็นงวดในระยะเวลา 5 ปีโดยเริ่มในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระด้านค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่ยังคงสูงในระดับ 2.6-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 เมื่อรวมกับมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงานประมาณ 3.0-3.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงกว่า 9 เท่าในปี 2562 และจะอยู่ที่ระดับ 8-9 เท่าในช่วงปี 2563-2564 เทียบกับระดับ 9.3 เท่าในปี 2561

ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าการลงทุนในเทคโนโลยี 5G (Fifth Generation) จะยังไม่สูงมากนักในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากยังเป็นระยะเริ่มแรกของการพัฒนา อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถ้าเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดก็จะเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทเนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนใหญ่อีกครั้ง

โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลง

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอ่อนตัวลงอีกในปี 2562 จากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 15) ที่ทำให้บริษัทต้องตัดจ่ายต้นทุนการได้มาของผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นล้านบาทออกจากกำไรสะสม ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 74%-80% ในระหว่างปี 2562-2564 เมื่อเทียบกับระดับ 66% ในปี 2561

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่ก็คาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการได้ แหล่งสภาพคล่องหลักของกลุ่มบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2561 อีกประมาณ 8.8 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 2.8-3.0 หมื่นล้านบาท ค่าใบอนุญาตที่ต้องชำระตามกำหนด 4 พันล้านบาท และหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวม 3.65 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะสั้นที่จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่มาทดแทน บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยบริษัทยังมีความยืดหยุ่นจากการที่บริษัทสามารถขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทในกรณีที่จำเป็น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 5%-9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564

• อัตราส่วนกำไรจะอยู่ที่ระดับประมาณ 23%-27%

• ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.6-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

• บริษัทจะรับเงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์และจะรับการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 2.5 หมื่นล้านบาท

• บริษัทจะต้องชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่รวมจำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 จำนวน 2.45 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในตลาดและสามารถสร้างรายได้จากเงินที่ลงทุนไปโดยไม่ทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง อีกทั้งบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดกับอันดับเครดิตของทรูก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในขณะที่ความเสี่ยงที่บริษัทจะได้รับการปรับลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้เป็นอย่างมาก

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิตยังคงดำรงอยู่และใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TUC203A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TUC205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TUC211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,809.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TUC218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,998.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TUC21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10,974.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TUC225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,258.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TUC238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,001.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TUC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,545.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TUC241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,190.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TUC245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,789.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TUC246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TUC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,480.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
TUC275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,376.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 BBB+
TUC295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,575.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ