ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ที่ “BB+” หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ “B+” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น “Negative” จาก “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 9, 2019 19:50 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกัน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ที่ระดับ “B+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” สะท้อนถึงระดับภาระหนี้สินที่สูงกว่าคาดและความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน แม้ว่าบริษัทมีแผนจะลดระดับหนี้สินลงก็ตาม แต่ยังต้องรอดูว่าจะสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่

อันดับเครดิตสะท้อนถึงแบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน และสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนในระดับสูง สภาพคล่องที่ตึงตัว และความกังวลจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัว

ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 3 ระดับซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิ 2 ขั้นและการเลื่อนการชำระดอกเบี้ยตามดุลยพินิจของผู้ออกตราสาร 1 ขั้น ทั้งนี้ สถานะด้อยสิทธิที่ระดับ 2 ขั้นดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสที่มีน้อยลงในการได้รับคืนเงินต้นของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งออกโดยผู้ออกตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (Non-investment Grade)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แบรนด์สินค้าเป็นที่ยอมรับในตลาดบ้านจัดสรร

ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีแบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน ยอดขายและรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรอยู่ที่ 6-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2561 ยอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียมดีขึ้นเป็น 5.5 พันล้านบาทในปี 2561 จาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2560 และ 3.8 พันล้านบาทในปี 2559 รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมเท่ากับ 4.8-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายที่อยู่อาศัยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 เติบโต 29% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 3.9 พันล้านบาท

ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรระหว่างการพัฒนา 60 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียมระหว่างการพัฒนา 21 โครงการ โดยมีมูลค่าเหลือขายรวม 5.1 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของบริษัทมีมูลค่า 5.6 พันล้านบาท (รวมยอดขายรอการรับรู้รายได้จากโครงการ ยู คิโรโระ มูลค่า 1.2 พันล้านบาท) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 บริษัทจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้ให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2562 ถึงปี 2563 ในสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะเท่ากับ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 โดยรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรจะเท่ากับ 70% ของรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เหลือจะเป็นรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเหลือขายมูลค่า 9.9 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการขายและโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จเหลือขายเหล่านี้

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7-4.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 จาก 2.9 พันล้านบาทในปี 2561 และ 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 ภายหลังจากการซื้อโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์สในกลางปี 2561 และจากการเปิดโรงแรมใหม่คือ ไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิทในปลายปี 2561 ณ ปัจจุบัน บริษัทประกอบธุรกิจโรงแรม 5 แห่งในประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และในประเทศญี่ปุ่น 1 แห่ง คือ คิโรโระ โดยมีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 2,076 ห้อง

ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยสร้างรายได้ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2560 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 พันล้านบาทในปี 2561 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของโรงแรมในประเทศไทยเท่ากับ 0.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 รายได้จากโรงแรมคิโรโระเท่ากับ 1.1-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 อย่างไรก็ตาม โรงแรมคิโรโระมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 0.2-0.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อกำไรสุทธิของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทเปิดโครงการคอนโดมิเนียม “ยู คิโรโระ” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นโดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 โครงการมียอดขายแล้ว 50% และจะส่งมอบให้กับลูกค้าภายในสิ้นปีนี้ บริษัทคาดว่ากระแสเงินสดจากการโอนคอนโดมิเนียมดังกล่าวจะช่วยลดภาระหนี้ของโรงแรมคิโรโระได้

การเข้าซื้อหุ้น 98.48% ของโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตันมูลค่าประมาณ 3.6 พันล้านบาทในปี 2561 ทำให้ภาระหนี้ในงบการเงินรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนจำนวน 1 พันล้านบาทสำหรับการปรับปรุงโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตันในปี 2563 บริษัทยังมีแผนขายหุ้นบางส่วนในโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันและเงินที่ได้รับจากการขายจะช่วยสนับสนุนความต้องการเงินลงทุนดังกล่าวและลดภาระหนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่จะได้รับและระยะเวลาในการขายหุ้นนั้นยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนต่อสัญญาเช่าที่ดินของโรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิทซึ่งจะครบกำหนดในปี 2563 ด้วย บริษัทจึงตั้งงบประมาณสำหรับการจ่ายค่าสิทธิการเช่าที่ดินล่วงหน้าและการปรับปรุงโรงแรมเดอะ

เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิทที่ 1 พันล้านบาทในช่วงปี 2562-2563 ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนขายโรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิทเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ด้วยมูลค่าขาย 2.3 พันล้านบาทในปี 2563 อีกด้วย

ความสามารถในการทำกำไรต่ำ

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการจัดอับดับเครดิต อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เท่ากับ 13%-15% ในช่วงปี 2559-2561 เปรียบเทียบกับ 15%-17% ของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ อัตรากำไรสุทธิของบริษัทเหลือเพียง 3% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งต่ำกว่า 10%-12% ของผู้ประกอบการรายอื่น ๆค่อนข้างมาก แม้ว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรมจะยังเติบโต แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจากธุรกิจโรงแรมในประเทศญี่ปุ่นและส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาก

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 25% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในปี 2559 เป็น 27% ในปี 2561 บริษัทมีส่วนแบ่งขาดทุนจากการลงทุนในธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ “All D” เท่ากับ 63 ล้านบาทในปี 2560 และ 95 ล้านบาทในปี 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสในจังหวัดตราดอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทต้องจ่ายเงินค่าสิทธิการเช่าจำนวน 20 ล้านบาทต่อปีสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัทอาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีกสำหรับโครงการนี้ ทั้งนี้ จำนวนเงินลงทุนและระยะเวลาการลงทุนดังกล่าวยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมทุนในการพัฒนาโครงการนี้

เนื่องจากบริษัทมีแผนจะหยุดขยายการลงทุนในธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ และคาดว่าบริษัทจะมีรายได้มากขึ้นจากธุรกิจโรงแรม ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่ควรอ่อนแอลงจากระดับปัจจุบัน ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายควรอยู่ในระดับสูงกว่า 15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แผนร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และการขายที่ดินบางส่วนเพื่อลดภาระหนี้

ในปี 2561 บริษัทจัดตั้งกิจการร่วมทุนกับพันธมิตรหลายราย คือ บริษัท เอชเคแอล ไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท เซกิซุย เคมีคอล จำกัด และ บริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสทรี จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม บริษัทมีแผนขายที่ดินให้กับกิจการร่วมทุนและบุคคลอื่นภายในสิ้นปี 2562 เงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าจะใช้ในการจ่ายชำระหนี้และลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ทำให้คาดว่าบริษัทจะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 65% ได้ภายในสิ้นปีนี้จากจุดสูงสุดที่ 69% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็ควรปรับดีขึ้นเป็นประมาณ 3%-5% เพื่อคงอันดับเครดิตไว้ที่ระดับปัจจุบันด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าการร่วมทุนกับพันธมิตรจะช่วยขยายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัท ลดความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ และลดความต้องการการกู้ยืมเงินได้ ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากิจการร่วมทุนจะเปิดโครงการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการบ้านจัดสรรร่วมทุนในช่วงปลายปี 2562 ด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรใหม่มูลค่า 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทเองและของกิจการร่วมทุนมูลค่า 7.4 พันล้านบาทในปี 2562 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และ 3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 และยังคาดว่าบริษัทจะใช้งบประมาณในการซื้อที่ดินเท่ากับ 2-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563

ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรง

แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทั่วประเทศส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ การนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท. มาบังคับใช้นั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายคอนโดมิเนียมในระยะสั้น ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ดังนั้น บริษัทอาจจะต้องยืดการผ่อนค่ามัดจำให้แก่ผู้ซื้อบ้านบางรายออกไป ทั้งนี้ ความล่าช้าในการส่งมอบก็จะกระทบต่อการรับรู้รายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะเน้นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวให้น้อยลง

การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศทำให้บริษัทต้องขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งนี้ ยอดขายในกลุ่มลูกค้าต่างชาติของบริษัทค่อนข้างน้อย แต่บริษัทก็มีแผนจะขายคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้าต่างชาติจำนวน 0.4 พันล้านบาท (หรือ น้อยกว่า 5% ของรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม) ต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นกลุ่มลูกค้าชาวจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดของการค้าโลกอาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจากกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติได้

สภาพคล่องตึงตัว

สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทตึงตัว ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 8.9 พันล้านบาท เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 1.3 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวโครงการจำนวน 0.5 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.9 พันล้านบาท วงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกซึ่งสามารถเบิกใช้ได้ทันทีจำนวน 1.6 พันล้านบาท ที่ดินซึ่งไม่ติดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีประมาณ 3.1 พันล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท

โดยปกติหุ้นกู้ของบริษัทที่ครบกำหนดชำระจะถูกทดแทนด้วยหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นและตั๋วแลกเงินระยะสั้นจะถูกจ่ายชำระคืนหรือต่ออายุตั๋วออกไป ในขณะที่เงินกู้โครงการจะจ่ายชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากการโอนที่อยู่อาศัย

บริษัทจำเป็นต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2562 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.87 เท่า ดังนั้น จึงถือว่าบริษัทยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเงินได้ จากแผนการขยายธุรกิจเชิงรุก บริษัทจำเป็นต้องบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งมีดังนี้

• บริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่ารวม 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และเปิดโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 7.4 พันล้านบาทในปี 2562 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และ 3.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

• บริษัทจะใช้งบประมาณในการซื้อที่ดินเท่ากับ 2-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563

• บริษัทจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจโรงแรมประมาณ 2 พันล้านบาทในช่วงปี 2562-2563 และเงินลงทุนในกิจการร่วมทุนประมาณ 2 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

• รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ประมาณ 1.9-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 และอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ควรอยู่ที่ 13%-15%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามแผนการลดหนี้ได้ ในขณะที่ความสามารถในการเพิ่มอัตรากำไรของบริษัทยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ระดับภาระหนี้สินของบริษัทอยู่ใกล้เคียงกับระดับที่ต้องดำรงไว้ในเงื่อนไขทางการเงินของเงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้แล้วด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทสูงเกินกว่า 65% และ/หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 3% อาจเป็นสาเหตุให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับไปเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นสอดคล้องตามประมาณการ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PF17PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 447.7 ล้านบาท B+
PF18PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 60.3 ล้านบาท B+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ