ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” ที่ “AA” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 15, 2020 17:31 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศ ในการทบทวนอันดับเครดิตดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เข้มแข็งของบริษัท รวมถึงสภาพคล่องที่เพียงพอ และการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยเสริมบางส่วนจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก Telenor ASA (Telenor) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สาย ทั้งนี้ บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการที่จะสร้างการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมไปถึงการลงทุนจำนวนมากที่บริษัทต้องใช้สำหรับการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และสำหรับชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการสร้างการเติบโตของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคาดว่าการใช้บริการสื่อสารข้อมูล (Data Service) ที่เพิ่มขึ้น และการโอนย้ายลูกค้าในระบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าระบบรายเดือนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Average Revenue per User -- ARPU) ที่สูงกว่านั้นน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ รายได้จากการให้บริการแก่ลูกค้าระบบรายเดือนที่เพิ่มขึ้นยังคาดว่าจะช่วยเสริมฐานรายได้รวมของบริษัทได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะยังคงรุนแรงต่อไปซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรายได้ของบริษัท บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าในระบบเติมเงินและส่วนแบ่งทางการตลาด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงนี้ บริษัทพยายามอย่างมากที่จะหยุดการสูญเสียลูกค้า หากบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายของกลยุทธ์การแก้ปัญหาการสูญเสียลูกค้าดังกล่าวนี้ได้ ก็จะทำให้จำนวนลูกค้ากลับมาเพิ่มขึ้นและทำให้บริษัทเรียกคืนส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมาได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของลูกค้าโดยพยายามที่จะเปลี่ยนฐานลูกค้าระบบเติมเงินมาเป็นลูกค้าระบบรายเดือนซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าถึง 3 เท่า ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากลูกค้าระบบรายเดือนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 559 บาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 จาก 535 บาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ซึ่งส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนโดยรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเช่นนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้ของบริษัท

ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของการใช้บริการสื่อสารข้อมูลก็ช่วยเพิ่มรายได้ด้วยเช่นกัน โดยการใช้บริการข้อมูลโดยเฉลี่ยของลูกค้าของบริษัทอยู่ที่ 11 กิ๊กกะไบต์ (Gigabytes) ต่อรายต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.3 กิ๊กกะไบต์ต่อรายต่อเดือนในปี 2561 การใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นทำให้รายได้จากการให้บริการเสียงและข้อมูลของบริษัทในปี 2562 ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 ไตรมาสสุดท้ายโดยอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 จาก 1.4 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

ได้รับผลกระทบต่ำจากไวรัสโควิด-19

ทริสเรทติ้งคาดว่าการห้ามการเดินทางและการจำกัดการออกนอกเคหะสถานเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) รวมถึงบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของบริษัทลดลงในช่วงการออกมาตรการปิดประเทศ

แต่ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) ของรัฐบาล โดยประชาชนจำนวนมากสามารถทำงานและเรียนหนังสือจากบ้านได้ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการใช้บริการและดำเนินกิจกรรมทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวก็จะส่งผลให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

มีจำนวนคลื่นเพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ

ทริสเรทติ้งมองว่าจำนวนคลื่นความถี่ (Spectrum Portfolio) ที่บริษัทมีซึ่งรวมถึงคลื่นความถี่ใหม่ที่บริษัทได้มานั้นเพียงพอที่จะรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าต้นทุนใบอนุญาตคลื่นความถี่ในครั้งนี้เป็นราคาที่สมเหตุสมผลมากกว่าเมื่อเทียบกับการประมูลใบอนุญาตที่มีราคาแพงมากในปี 2558

ในเดือนมิถุนายน 2562 บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (Megahertz -- MHz) จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 1.76 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จากประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประมูลได้ในเดือนตุลาคม 2563 สำหรับคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์นั้นเป็นคลื่นความถี่ในช่วงความถี่ต่ำ (Low-band) ซึ่งใช้สำหรับส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในวงกว้าง

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ยังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ (Gigahertz -- GHz) จำนวน 2 ชุดซึ่งมีคลื่นความถี่รวม 200 เมกะเฮิรตซ์ที่ราคา 910.4 ล้านบาทอีกด้วย โดยคลื่นความถี่ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์นี้เป็นคลื่นความถี่ช่วงความถี่สูง (High-band) ซึ่งสามารถนำส่งข้อมูลได้เร็วมากและในจำนวนมาก แต่คลื่นนี้จะสูญเสียทิศทางและอ่อนไหวต่อสิ่งกีดขวางค่อนข้างสูง

ทริสเรทติ้งเข้าใจว่าการที่บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ก็เพราะว่าบริษัทได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์อยู่แล้ว ซึ่งคลื่นความถี่ 2600 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์นี้อยู่ในช่วงความถี่ปานกลาง (Mid-band) เหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ บริษัทดีแทค ไตรเน็ตยังได้ติดตั้งเสาส่งสัญญาณสำหรับคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้วจำนวน 17,376 เสาเพื่อให้บริการส่งข้อมูลสื่อสารความเร็วสูงอีกด้วย

อัตราส่วนจำนวนคลื่นความถี่ช่วงต่ำถึงช่วงปานกลางต่อจำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 6.3 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะที่คู่แข่งอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีจำนวนคลื่นความถี่อยู่ที่ 6.0 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 7.2 เมกะเฮิรตซ์ต่อลูกค้า 1 ล้านราย ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าโดยใช้คลื่นความถี่ปัจจุบันต่อจำนวนลูกค้าของบริษัทนั้นถือว่าสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะเริ่มให้บริการเทคโนโลยีรุ่นที่ 5 หรือ 5G (Fifth Generation) ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยคาดว่าตลาดจะยังคงใช้เทคโนโลยี 4G เป็นหลักและมีการให้บริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง (Mobile Broadband) ในบางพื้นที่ เทคโนโลยี 5G อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจำนวนและความหลากหลายของอุปกรณ์ที่จะสามารถรองรับบริการ 5G ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สำคัญที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกสามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี 5G ได้ โดยใช้ได้กับโครงข่ายและอุปกรณ์สื่อสารหลากหลายแบรนด์ อย่างไรก็ดี การประมูลคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ในประเทศไทยนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าแต่ยังไม่มีประกาศช่วงเวลาที่ชัดเจน

เริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มจำนวนลูกค้าขึ้นมาบ้าง

บริษัทเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 20.5 % ของจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศไทยทั้งหมด ณ เดือนธันวาคม 2562 และสร้างรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges – IC) จำนวน 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 23% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรม

ฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม โดย ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 20.6 ล้านราย ลดลงจาก 21.2 ล้านรายในปี 2561 จากการลดลงของลูกค้าที่ใช้บริการในระบบเติมเงินเป็นหลัก ในขณะที่จำนวนลูกค้าในระบบรายเดือนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่มากพอที่จะทดแทนจำนวนลูกค้าในระบบเติมเงินที่ลดลงได้

บริษัทพยายามที่จะลดการสูญเสียลูกค้าลงโดยพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้โครงข่ายแก่ลูกค้าทั้งจากการเพิ่มจำนวนเสาส่งสัญญาณและการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายให้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจและออกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 บริษัทสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ได้ประมาณ 45,000 รายหลังจากที่สูญเสียลูกค้าติดต่อกันมาหลายปีก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทจะยังคงรักษาระดับทิศทางการขับเคลื่อนฐานลูกค้าเช่นนี้ต่อไป แม้จะต้องใช้เวลาพอควรในการฟื้นคืนส่วนแบ่งทางการตลาดก็ตาม

การสนับสนุนจาก Telenor

Telenor เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 42.6% ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อนึ่ง บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก Telenor ทั้งในด้านความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ ความรู้ด้านเทคโนโลยี การใช้ตราสัญลักษณ์ร่วมกัน และการใช้บริการข้ามเครือข่าย โดย Telenor เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของบริษัทซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารเข้ามาร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธุรกิจของ Telenor โดยบริษัทเป็นผู้สร้างรายได้ในระดับแนวหน้าในกลุ่มบริษัทที่ Telenor ลงทุนนอกประเทศนอร์เวย์ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดหวังว่า Telenor จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในยามที่ต้องการต่อไป

การทำกำไรที่มีเสถียรภาพ

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทมีความแข็งแกร่งมาโดยตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยอยู่ในช่วง 2.9-3.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 32%-40% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากการมีปัจจัยสนับสนุนคือต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) ที่ลดลง รวมถึงฐานลูกค้าระบบรายเดือนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่มีเสถียรภาพและแข็งแกร่งที่ระดับ 2.9-3.1 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ โดยคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ในช่วง 37%-38% โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากคุณภาพของลูกค้า รวมทั้งฐานลูกค้ารายเดือนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งสร้างรายได้ในระดับสูง และการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรอาจได้รับแรงกดดันจากต้นทุนดำเนินงานคงที่ ตลอดจนค่าเสื่อมราคาจากโครงข่ายที่ขยายใหญ่ขึ้นและจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ รวมถึงต้นทุนบริการข้ามโครงข่ายไปยังโครงข่าย 2300 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัททีโอที นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงข่ายและต้นทุนดำเนินงานคงที่บางอย่างจะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้รวมถึงรายจ่ายค่าเช่าในการใช้โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์โทรคมนาคมให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) และรายจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่บริษัททีโอทีด้วย

คาดว่าภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วสุทธิของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงพอประมาณ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าเงินลงทุนสำหรับขยายโครงข่ายของบริษัทจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระการชำระใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่อีกปีละ 5.6 พันล้านบาทถึง1.32 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในช่วง 22%-28% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนนี้จะค่อยๆ ลดลงหลังจากที่บริษัทสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ใหม่ที่ประมูลมาได้

สภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 8.5 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2562 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกจำนวนประมาณ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2665 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนโครงข่าย ภาระการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีและจะมีภาระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่อีก 5.6 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีภาระสินเชื่อหมุนเวียนที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 6 พันล้านบาทรวมทั้งมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระทั้งสิ้นอีก 2.5 พันล้านบาทในปี 2564 ด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทจ่ายเงินปันผลในระดับที่เหมาะสมเพื่อจะได้มีกระแสเงินสดที่เพียงพอรองรับภาระเงินลงทุนก้อนใหญ่เพื่อขยายโครงข่ายและสำหรับใช้เป็นเงินทุนในการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้จากการให้บริการของบริษัทจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2563-2565

• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 37%-38% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า

• บริษัทจะใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายโครงข่ายการให้บริการในช่วง 3 ปีข้างหน้า

• ภาระการชำระใบอนุญาตค่าคลื่นความถี่จะอยู่ที่ปีละ 5.6 พันล้านบาทถึง 1.32 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายโครงข่ายจำนวนมาก แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ อีกทั้งยังคาดหวังว่าสถานะการแข่งขันทางการตลาดของบริษัทน่าจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น และคาดหวังให้บริษัทดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังโดยจ่ายเงินปันผลในระดับที่เหมาะสมเพื่อจะได้มีกระแสเงินสดที่เพียงพอรองรับภาระเงินลงทุนก้อนใหญ่เพื่อขยายโครงข่ายโดยไม่เกิดปัญหาด้านสภาพคล่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานด้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อลูกค้าต่อเดือนที่ลดลงอย่างมากอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการสูญเสียลูกค้าจะเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการปรับลดอันดับเครดิตได้ นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ในการปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้อีกเช่นกันหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงิน (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 4 เท่าหรือสูงกว่าเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ายังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้มากขึ้นและลดภาระหนี้ลงจนทำให้อัตราส่วนของหนี้สินปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้เช่นกันในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความช่วยเหลือที่บริษัทได้รับจาก Telenor นั้นเปลี่ยนแปลงไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)

อันดับเครดิตองค์กร: AA

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ