ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ไทยคม” เป็น “BBB+” จาก “A-” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Stable” จาก “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 25, 2020 10:32 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB+” จาก “A-” และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ถดถอยลงและอ่อนแอกว่าที่คาดไว้อันเป็นผลจากการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนการสูญเสียลูกค้า และภาวะทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย การลดอันดับเครดิตในครั้งนี้ยังพิจารณารวมไปถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่อ่อนแอลงจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานที่กำลังจะหมดอายุลงและความยากลำบากในการหาลูกค้าใหม่เพื่อดำรงกระแสรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่มีลักษณะเฉพาะในการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนความรู้และความเชี่ยวชาญของบริษัทในตลาดการให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมอีกด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงภาระหนี้ในระดับปานกลางและสภาพคล่องของบริษัทซึ่งมีเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้สินที่จะครบกำหนดได้แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในสภาวการณ์ที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีก็ตาม

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้และกำไรยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน ผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมที่ลดลงจากการสูญเสียลูกค้า รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย รายได้ของบริษัทในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านบาท ลดลงจากระดับ 6 พันล้านบาทในปี 2561 และ 6.9 พันล้านบาทในปี 2560 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทยังคงลดลงที่ระดับ 26% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 0.97 พันล้านบาทจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 และการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์เป็นสำคัญ บริษัทพยายามที่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ แต่จนถึงปัจจุบันรายได้จากธุรกิจใหม่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปของธุรกิจดาวเทียมได้

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านบาท ลดลงจากประมาณ 2.2 พันล้านบาทในปี 2561 และลดลงเหลือ 0.3 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จากระดับ 0.6 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับราว ๆ 32% ในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงจาก 38% ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการมีรายได้ที่ลดลงและต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูง

ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปเนื่องจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานจะหมดอายุลงในปี 2564 ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่ไม่รวมการดำเนินงานของดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทย 6 หลังจากหมดอายุสัมปทานจะอยู่ในช่วง 1.5-3.5 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานของธุรกิจดาวเทียมที่มีต้นทุนการดำเนินงานคงที่ที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะหดตัวลงมาอยู่ในช่วง 26%-29%

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในปี 2563 เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการพื้นฐานด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมในลักษณะการขายส่งช่องสัญญาณดาวเทียม อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อก็อาจส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของลูกค้าของบริษัทในกลุ่มธุรกิจออกอากาศทางโทรทัศน์และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทได้

สัมปทานการดำเนินงานใกล้หมดอายุ

ปัจจุบันบริษัทให้บริการด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 4 ดวง โดยดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ และดาวเทียม ไทยคม 6 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปีที่จะหมดอายุลงในปี 2564 ส่วนดาวเทียมอีก 2 ดวงคือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 ให้บริการภายใต้ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2575

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้สิทธิ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ในการบริหารดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจในการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสัมปทานสิ้นสุดยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

บริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานที่จะหมดอายุลงในปี 2564 การหาลูกค้าใหม่เป็นสิ่งที่บริษัททำได้ยากในขณะที่ลูกค้าที่มีอยู่บางรายยกเลิกสัญญาไป นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับโครงสร้างกฎระเบียบที่ซับซ้อนอีกด้วย หลังจากสัมปทานสิ้นสุดลง บริษัทจะมีดาวเทียมเพียง 2 ดวงที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตในการดำเนินงานและสร้างรายได้ ในขณะที่ธุรกิจใหม่อย่างการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบนเรือ (Maritime Services) การให้บริการบริหารจัดการดาวเทียม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์นั้นยังไม่สามารถสร้างรายได้ในจำนวนมากเพียงพอที่จะทดแทนรายได้ที่ลดลงในธุรกิจให้บริการสื่อสารดาวเทียม

การปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 มีผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไป

ในปี 2562 บริษัทวางแผนจะใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนอวกาศ (Space Drone) ขึ้นไปเกาะติดกับดาวเทียมไทยคม 5 เพื่อจะช่วยรักษาตำแหน่งของดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจรที่เหมาะสมต่อไปได้อีก 1 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2562 ดาวเทียมไทยคม 5 เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคในการแจ้งสถานะดาวเทียมและบริษัทไม่สามารถกู้คืนระบบดังกล่าวได้ ดาวเทียมไทยคม 5 จึงต้องปลดระวางลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทรับรู้การด้อยค่าสินทรัพย์ของดาวเทียมไทยคม 5 จำนวน 222 ล้านบาทในงบการเงินงวดสิ้นปี 2562

ดาวเทียมไทยคม 5 เป็นดาวเทียมทั่วไปขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทซึ่งมีความจุของช่องรับส่งสัญญาณจำนวน 40 ช่องและอยู่ในวงโคจรที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งวงโคจรหลักของประเทศไทย การปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 ทำให้จำนวนความจุของช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทลดลงเหลือ 71 ช่องจาก 111 ช่อง อีกทั้งยังเพิ่มแรงกดดันในด้านรายได้ให้แก่บริษัทด้วย บริษัทได้โอนย้ายลูกค้าบางส่วนจากดาวเทียมไทยคม 5 ไปยังดาวเทียมดวงอื่นๆ ของบริษัท ในขณะที่ลูกค้าบางส่วนเลิกสัญญาไป นอกจากนี้ จำนวนช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศโดยใช้ดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทก็ลดลงเหลือ 564 ช่อง ณ เดือนมีนาคม 2563 จาก 972 ช่อง ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปที่ระดับ 2.5 พันล้านบาทในปี 2562 และอยู่ที่ 0.5 พันล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยรายได้ปรับลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29% ในปี 2562 และลดลงอีก 17% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563

ทริสเรทติ้งคาดว่าในอนาคตรายได้จากธุรกิจดาวเทียมแบบทั่วไปของบริษัทจะขึ้นอยู่กับการเพิ่มอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการกระจายเสียงและการแพร่ภาพออกอากาศในประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะอิ่มตัวแล้ว บริษัทจึงพยายามขยายการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียใต้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันด้านราคาจะยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังจะขยายธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบนเรือและเร่งสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่อื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน

อัตราการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ลดลง

อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่ที่ระดับ 21.2% ณ เดือนมีนาคม 2563 ลดลงจาก 22.5% ในปี 2562 และ 29.9% ในปี 2561 จากผลของอัตราการใช้บริการที่ลดลงในประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไทยเป็นสำคัญ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ในปี 2562 ทั้งสิ้น 2.1 พันล้านบาทและอยู่ที่ระดับ 0.4 พันล้านบาท ณ ไตรมาสแรกของปี 2563 โดยรายได้ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และลดลงอีก 33% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563

ณ เดือนมีนาคม 2563 ประเทศอินเดียเป็นตลาดที่ใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์สูงสุดโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 6.5% ของช่องสัญญาณรวม บริษัทคาดว่าจะเพิ่มอัตราการใช้ดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโตในการให้บริการบริหารจัดการดาวเทียม อีกทั้งยังคาดหวังที่จะขยายธุรกิจดาวเทียมในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

ปัจจุบันบริษัทกำลังพิจารณาที่จะสร้างดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่โดยคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานการดำเนินงานของบริษัทกำลังจะหมดอายุลงในปี 2564 บริษัทต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเจรจากับลูกค้าดาวเทียมบรอดแบนด์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากบริษัทไม่มีโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่แล้ว รายได้ของบริษัทจากธุรกิจนี้จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2562 แต่ปรับลดลงจากระดับ 7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและจ่ายคืนเงินกู้ นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวในหลักทรัพย์ก้อนใหญ่รวมทั้งสิ้นเกือบ 6 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนภาระหนี้ตามกำหนดและใช้เป็นเงินลงทุนในกรณีที่มีความจำเป็น

บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์โดยรวมประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีการลงทุนในโครงการดาวเทียมดวงใหม่ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจก็คาดว่าเงินสดที่มีรวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวจะช่วยรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้พอสมควร โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 35%

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2.5 พันล้านบาทและเงินลงทุนมูลค่า 3.4 พันล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่แหล่งเงินทุนนั้นน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตได้ โดยความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบไปด้วยเงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์โดยรวมที่ประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าและการชำระคืนหนี้สินที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 0.2 พันล้านบาทในปี 2563 และมีหุ้นกู้และเงินกู้ธนาคารที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2564

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับธนาคารและผู้ถือหุ้นกู้ในช่วง 12 ถึง 18 เดือนได้ โดยข้อกำหนดทางการเงินระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 0.7 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันโดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.5-3.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565

• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 26%-29% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า

• บริษัทจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ทั้งสิ้นประมาณ 0.1 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่มีลักษณะเฉพาะตลอดจนความเชี่ยวชาญในธุรกิจการให้บริการสื่อสารดาวเทียมไว้ได้ต่อไป อีกทั้งยังคาดหวังว่าธุรกิจใหม่จะค่อยๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นแม้จะใช้เวลาก็ตาม ในขณะที่โครงการดาวเทียมดวงใหม่จะช่วยฟื้นรายได้ให้แก่บริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทยังคงรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดได้แม้จะอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่าที่

ทริสเรทติ้งคาดไว้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถดำเนินแผนธุรกิจใหม่ได้สำเร็จ หรือธุรกิจรูปแบบใหม่สามารถสร้างรายได้จำนวนมากและสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องโดยที่บริษัทยังคงรักษาสถานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งเอาไว้ได้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

THCOM21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

THCOM21OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,775 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ