ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROPERTY INDUSTRY) - ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย (HOMEBUILDERS AND REAL ESTATE DEVELOPERS)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 23, 2022 13:30 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยในประเทศไทยน่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 5%-10% ในปี 2565 นี้หากไม่มีการระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีความร้ายแรงถึงแก่ชีวิตอีก โดยยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบน่าจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดขายคอนโดมิเนียมจะยังไม่น่าเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายสำหรับปีนี้คือภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการและต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ รวมทั้งการระบาดที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ดี อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทยที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น การผ่อนปรนเกณฑ์สัดส่วนหนี้ต่อมูลค่าสินทรัพย์และการลดค่าจดจำนองค่าโอนก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2565 ได้ นอกจากนี้ การเปิดโครงการที่ค่อนข้างน้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะช่วยลดความกดดันในเรื่องของราคาสำหรับผู้ประกอบการลงได้อีกด้วย

ผลการดำเนินงานโดยรวมของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตในปี 2564 นั้นต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ประมาณ 5%-10% ทั้งนี้ การระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 ในปี 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อการเปิดโครงการใหม่และการโอนที่อยู่อาศัยในหลาย ๆ โครงการ ทั้งนี้ ยอดขายสุทธิของคอนโดมิเนียม (สุทธิจากยอดปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารและยอดยกเลิก) ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยมีมูลค่าอยู่ที่ระดับเพียง 25% ของยอดขายสูงสุดที่ทำได้ในปี 2561 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ของผู้ประกอบการทั้ง 23 รายรวมกันลดลงเหลือเพียง 1.60 แสนล้านบาท โดยลดลงไปอีก 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งหากยอดขายคอนโดมิเนียมยังคงชะลอตัวต่อไปอีกก็จะส่งผลต่อการรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ในทางตรงกันข้าม ที่อยู่อาศัยแนวราบกลับยังคงมีการเติบโตที่แข็งแกร่งซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าจะต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดโครงการลดลงในปี 2564 แต่ยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบก็ยังคงเติบโตได้ดี โดยในปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การรับรู้รายได้ในปี 2564 อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดซ้ำของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ต้องมีการปิดพื้นที่ก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2564 ดังนั้น รายได้รวมของผู้ประกอบการทั้ง 23 รายในปี 2564 จึงอาจจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในปี 2563

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนได้ โดยคาดว่ารายได้น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5%-10% ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเติบโตที่ระดับ 10%-15% จากการมีอัตรากำไรที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกำไรที่จะไปอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2562 นั้นอาจจะต้องรอไปอีกจนถึงปีหน้า โดย

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้ง 23 รายนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50%-53% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2563-2564 เนื่องจากการพัฒนาโครงการแนวราบใช้เงินทุนน้อยกว่าโครงการคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม หากอุปสงค์คอนโดมิเนียมฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็อาจจะเห็นภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากได้เช่นกัน

ณ เดือนธันวาคม 2564 ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยทั้งสิ้นจำนวน 23 ราย โดยบริษัทเหล่านี้มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ ?BB-? ไปจนถึง ?A+? ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตลงทั้งหมด 3 รายและมีบริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 2 ราย ซึ่งสาเหตุหลักในการปรับลดอันดับเครดิตคือการมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและมีภาระหนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้น สำหรับบริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้น จำนวน 1 รายเกิดจากการที่ทริสเรทติ้งมีการเปลี่ยน ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ? ส่วนอีก 1 รายเกิดจากการที่สถานะความเสี่ยงด้านธุรกิจ (Business Risk Profile) ของบริษัทเปลี่ยนไปจากการที่บริษัทดังกล่าวไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเข้ามา นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีการปรับแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) ของบริษัท 4 แห่งด้วยโดยเป็นการปรับลดแนวโน้ม 2 แห่งและปรับเพิ่มแนวโน้ม 2 แห่ง สำหรับมูลค่ารวมของตราสารหนี้คงเหลือของผู้ประกอบการทั้ง 23 ราย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 นั้นอยู่ที่ประมาณ 2.37 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ย โดยตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38%-40% ของมูลค่าตราสารหนี้คงเหลือ ณ สิ้นปี 2564

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 โทร. 02-098-3000
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: www.trisrating.com/th/rating-information/rating-criteria

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ