ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “สปป. ลาว” ที่ “BBB-” เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น “Stable” จาก “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 20, 2022 17:00 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และอันดับเครดิตพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ ?BBB-? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ สปป. ลาว เป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นรวมถึงโอกาสที่สถานะด้านการคลังและภาคการต่างประเทศของ สปป. ลาว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตประเทศของ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีศักยภาพในการขยายตัวที่สูงรวมทั้งมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาล สปป. ลาว ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะสภาพคล่องทางการเงินที่มีจำกัดและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงซึ่งได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความผันผวนของค่าเงินกีบอีกด้วยเช่นกัน โดยที่ความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนดของรัฐบาลตลอดจนพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสถานะด้านการคลังและภาคการต่างประเทศนั้นจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทริสเรทติ้งใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ สปป. ลาว ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การบริหารสภาพคล่องยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่า สปป. ลาว จะสามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ตามกำหนดเนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมการจัดหาแหล่งสภาพคล่องเพื่อการชำระหนี้ไว้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตในระดับปัจจุบันนั้นสะท้อนถึงสภาพคล่องทางการเงินของ สปป. ลาว ที่มีอยู่ไม่มากและความเสี่ยงจากการบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าแหล่งเงินตราต่างประเทศสำคัญ ๆ ที่ สปป. ลาว จะนำมาใช้ชำระหนี้ต่างประเทศที่จะครบกำหนดนั้นจะมาจาก 1) รายรับของรัฐบาลในระหว่างปี 2) เงินที่รัฐบาลจะได้รับจากการชำระคืนหนี้ที่ให้รัฐวิสาหกิจกู้ยืม 3) การออกตราสารหนี้ภายในประเทศและ 4) การเจรจาสัญญาเงินกู้ใหม่เพื่อมาใช้ทดแทนสัญญาเงินกู้เดิม (รีไฟแนนซ์) และแหล่งเงินอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากการกู้ยืมให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการในปี 2564

สปป. ลาว มีภาระหนี้ต่างประเทศที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 มูลค่ารวม 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประมาณการของกระทรวงการเงินลาว (Ministry of Finance of the Lao PDR -- MOFL) ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงภาระดอกเบี้ยทั้งหมดและเงินต้นที่มีเงื่อนไขตามตลาด (Commercial Obligations) จำนวน 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 พบว่ามีสัดส่วนของหนี้ภาครัฐที่ชำระในอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ระดับ 82%

การขาดดุลงบประมาณค่อยๆ ลดลงในขณะที่หนี้ภาครัฐยังคงอยู่ในระดับสูง

ทริสเรทติ้งคาดว่าการขาดดุลการคลังของรัฐบาล สปป. ลาว จะมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยในปี 2564 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) จากระดับ 5% ในปี 2563 จากผลของการมีรายได้ที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดต่ำลง ทั้งนี้ แผนพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (The National Socio-Economic Development Plan -- NSEDP: 2564-2568) มีเนื้อหามุ่งเน้นการคงเสถียรภาพทางด้านการคลังและหนี้ภาครัฐภายใต้การบริหารแบบองค์รวม โดยแผนดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณที่ระดับไม่เกิน 2% โดยเฉลี่ยในระยะเวลา 5 ปีในระหว่างปี 2564 ถึงปี 2568 ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและควบคุมการก่อหนี้เพิ่ม

ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้ภาครัฐของ สปป. ลาว จะอยู่ที่ระดับประมาณ 70% ของ GDP ในช่วงปี 2565-2566 เมื่อเทียบกับระดับ 73% ณ สิ้นปี 2564 และระดับ 62% ณ สิ้นปี 2563 อันมีสาเหตุหลักมาจากการกู้ยืมภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและการอ่อนค่าของเงินกีบ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้ภาครัฐในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มที่ค่อย ๆ ลดลงเนื่องจาก สปป. ลาว มีการลดการขาดดุลทางการคลังและเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 การกู้ยืมภายในประเทศของรัฐบาลของ สปป. ลาว ได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านกีบภายใต้โครงการ Triangular Debt Diversion เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ค้างชำระของรัฐบาลที่มีกับบริษัทเอกชนภายในประเทศซึ่งไม่ได้มีประกาศมาก่อนหน้านี้ โดยการกู้ยืมส่วนใหญ่เป็นเป็นตราสารหนี้อายุ 10 ปีชนิดทยอยคืนเงินต้น (Amortising Bonds) ที่มีดอกเบี้ยในอัตรา 6% ต่อปีซึ่งเริ่มคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไปและมีธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศเป็นผู้ซื้อหลัก การออกพันธบัตรดังกล่าวส่งผลให้หนี้สาธารณะในประเทศเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 11% ของ GDP ณ สิ้นปี 2564 จากที่ระดับ 5% ณ สิ้นปี 2563 โดย MOFL ระบุว่าตราสารดังกล่าวสะท้อนถึงมูลค่าของหนี้ค้างชำระส่วนใหญ่แล้วและจะไม่มีการเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ามูลค่าหนี้ต่างประเทศของภาครัฐที่ระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 นั้นจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือค่อย ๆ ลดลงในช่วงปีต่อ ๆ ไป ในขณะที่การก่อหนี้ระหว่างประเทศครั้งใหม่ต่อจากนี้ไปจะเป็นการกู้ยืมภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Financing) เป็นหลัก ทั้งนี้ จากรายละเอียดเบื้องต้นของหนี้ภาครัฐ ณ สิ้นปี 2564 ระบุว่าประมาณ 63% ของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐทั้งหมดเป็นเงินกู้ในลักษณะดังกล่าวที่ใช้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศ

ภาระผูกพันซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยการให้การค้ำประกันเงินกู้แก่ ?lectricit? du Laos (EDL) มีมูลค่าคิดเป็นประมาณ 12% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความเป็นไปได้ที่ภาระผูกพันดังกล่าวจะถูกแปลงมาเป็นภาระหนี้ของรัฐบาลโดยตรงนั้นมีค่อนข้างจำกัด

ภาคการต่างประเทศยังคงมีความเปราะบางสูง

ความเปราะบางของภาคการต่างประเทศของ สปป. ลาว จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยแรงกดดันต่อดุลการชำระเงิน (Balance of Payments ? BOP) และเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับค่อนข้างน้อยน่าจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินกีบต่อไป แม้ว่าการก่อหนี้นั้นคาดว่าจะชะลอตัวลง แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าแรงกดดันต่อเงินทุนไหลออกจากการชำระคืนหนี้เงินกู้สุทธิของภาระหนี้ต่างประเทศภาครัฐตามกำหนดจะยังคงมีอยู่ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน เงินทุนไหลออกจากการบริหารเงินของภาคธนาคารพาณิชย์และการลงทุนในภาคหลักทรัพย์ (Portfolio Investments) ซึ่งมีสัดส่วนรองลงมาก็น่าจะยังคงอยู่ต่อไปเช่นกันท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและการอ่อนค่าของเงินกีบ

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองเห็นพัฒนาการด้านบวกที่น่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่สถานะด้านการต่างประเทศของ สปป. ลาว ได้ในระยะยาวอันประกอบด้วยแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2565 ที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีการค้า และความคาดหมายการฟื้นตัวของการค้าภาคบริการตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment ? FDI) ซึ่งประมาณการไว้ที่ระดับ 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 นั้นก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนได้อีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังมีข้อสังเกตว่ามาตรการใหม่ของธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of Lao ? BOL) ที่คาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2565 นั้นมีเป้าหมายที่จะช่วยอำนวยการให้การไหลเข้าของเงินทุนที่ยังค้างอยู่ในต่างประเทศ (Offshore Capital) เป็นไปอย่างทันการณ์มากยิ่งขึ้นและลดการไหลออกของเงินทุนภายในประเทศ

ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของ สปป. ลาว จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการก่อนหน้าเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าที่ประมาณ 2.5 เดือนหรือประมาณ 4 เดือนเมื่อไม่นับมูลค่าการนำเข้าที่เชื่อมโยงกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศซึ่งใกล้เคียงกับภาระการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ เงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของ สปป. ลาว อยู่ที่ระดับ 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือนเมษายน 2565 เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่ดุลการชำระเงินของ สปป. ลาว ขาดดุลที่ระดับ 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิต่อรายรับตามดุลบัญชีเดินสะพัดของ สปป. ลาว จะอยู่ใกล้เคียงที่ระดับประมาณ 190% ในปี 2565 โดยมีภาระการชำระคืนหนี้ต่างประเทศจะอยู่ที่ระดับประมาณ 85% ของเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศในปีเดียวกัน ในขณะที่ประมาณการมูลค่าหนี้ต่างประเทศซึ่งรวมภาครัฐและภาคเอกชนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565

เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ที่แท้จริง (Real GDP) ตามค่าเงินกีบของ สปป. ลาว จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4%-5% ในปี 2565 โดยเพิ่มจากระดับ 3.5% ในปี 2564 ซึ่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกพลังงานไฟฟ้าตลอดจนผลิตผลทางการเกษตรและแร่ธาตุน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางก็น่าจะช่วยฟื้นฟูการค้าในภาคบริการซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐผ่านเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป สำหรับผลกระทบในเชิงบวกจากโครงการรถไฟลาว-จีนที่เห็นชัดเจนที่สุดนั้นคือการเพิ่มปริมาณการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและแร่ธาตุไปยังประเทศจีนตอนใต้จากการมีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำลง ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวขาเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามแดนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้นก็น่าจะช่วยกระตุ้นปริมาณการค้าในภาคบริการให้เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

แม้จะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งมีขนาดเล็กและมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูงยังคงมีความเปราะบางต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยความเสี่ยงประกอบไปด้วยแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อภายนอกจากการอ่อนค่าของเงินกีบซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ ที่ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของ สปป. ลาว ที่จัดทำโดย Lao Statistics Bureau มีอัตราการเพิ่มขึ้นแบบปีต่อปีที่ระดับ 9.9% ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.9% ในเดือนเมษายน 2564

มีมาตรการที่สำคัญ ๆ ในการจัดการกับปัญหาเปราะบางในหลาย ๆ ด้าน

ทริสเรทติ้งมองว่ารัฐบาล สปป. ลาว ได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดการกับปัญหาความเปราะบางต่าง ๆ ทั้งในภาคการคลังและการต่างประเทศในช่วงเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของดุลการคลัง เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บภาษี การใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ทันสมัย การลดการทำงานซ้ำซ้อนของหน่วยงานภาครัฐ และการลดจำนวนข้าราชการ และที่สำคัญ ภายใต้แผน NSEDP ฉบับที่ 9 รัฐบาลยังตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐลงให้เหลือที่ระดับ 1%-2% ในระยะเวลา 5 ปีอีกด้วย โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อการชำระหนี้สาธารณะพร้อมทั้งชะลอการลงทุนในโครงการที่ไม่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ ส่วนรายการที่มีลำดับความสำคัญอื่นๆ ยังประกอบไปด้วยแนวทางการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย การกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาการลงทุนของภาครัฐ การรวมศูนย์ฐานข้อมูลทางการคลังและหนี้ภาครัฐ และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะปี 2561 (Public Debt Management Law: 2018) ยังได้กำหนดกฎเกณฑ์และกระบวนการอนุมัติโครงการลงทุนที่เข้าข่ายและการกู้ยืมของภาครัฐโดยมีผลบังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารหนี้สาธารณะทั่วประเทศอีกด้วย

ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสามารถและความตั้งใจในการแปรรูปสินทรัพย์ของภาครัฐบางส่วนหรือการให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนนั้นจะเป็นแหล่งที่มาของความยืดหยุ่นทางการเงินอีกแหล่งหนึ่งของ สปป. ลาว ในทำนองเดียวกัน การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออกด้านการเกษตร และการให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกที่หากประสบความสำเร็จก็น่าจะส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่หน่วยงานด้านการเงินยังได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อใช้สกุลเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ มารองรับการชำระเงินของกิจการนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้แก่เงินกีบอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของ สปป. ลาว ที่มีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและโอกาสที่สถานะทางการคลังและภาคการต่างประเทศของ สปป. ลาว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ทริสเรทติ้งอาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตลงหากมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น หรือมีความเสื่อมถอยลงของสถานะการคลังและภาคการต่างประเทศจนส่งผลกระทบให้ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของ สปป. ลาว อ่อนแอลง

ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหากรัฐบาล สปป. ลาว แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจตลอดจนสถานะทางการคลังและภาคการต่างประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับภาระหนี้ในอนาคต

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign Credit Rating), 8 ตุลาคม 2556

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MOFL22OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,019.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB-

MOFL23NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,063.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

MOFL23NB: พันธบัตรรัฐบาล 2,546.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

MOFL24OA: พันธบัตรรัฐบาล 340.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

MOFL253A: พันธบัตรรัฐบาล 1,119.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

MOFL263A: พันธบัตรรัฐบาล 3,880.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-

MOFL26NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,371.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-

MOFL27OA: พันธบัตรรัฐบาล 2,967.00 ล้านบาท ไถ่ถอน 2570 BBB-

MOFL28NA: พันธบัตรรัฐบาล 1,891.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-

MOFL28NB: พันธบัตรรัฐบาล 532.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 BBB-

MOFL29OA: พันธบัตรรัฐบาล 1,505.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2572 BBB-

MOFL30NA: พันธบัตรรัฐบาล 2,153.20 ล้านบาท ไถ่ถอน 2573 BBB-

MOFL32OA: พันธบัตรรัฐบาล 5,375.50 ล้านบาท ไถ่ถอน 2575 BBB-

MOFL25DA: พันธบัตรรัฐบาล 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

MOFL27DA: พันธบัตรรัฐบาล 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2570 BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ