ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ที่ “BBB-” หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ “BB” จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน วงเงินไม่เกิน 1.5

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 31, 2023 17:21 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ ?BB? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท ที่ระดับ ?BB? ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้บางส่วน (ได้แก่หุ้นกู้ชุด ANAN237A และ ANAN23OA) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนกรกฎาคมเดือนตุลาคม 2566

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทที่อาจจะใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่ายอดขายและยอดการโอนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 หากไม่รวมกำไรจากการขายที่ดินซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว อัตรากำไรและเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประมาณการของทริสเรทติ้งก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2565 ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนถึงระดับของความไม่แน่นอนต่อความสามารถของบริษัทที่จะส่งมอบผลการดำเนินงานที่ดีและปรับสถานะทางการเงินให้ดีขึ้นให้อยู่ในระดับเดียวกับที่ทริสเรทติ้งประมาณการล่าสุด

อันดับเครดิตยังสะท้อนสถานะทางการตลาดที่เป็นที่ยอมรับในตลาดคอนโดมิเนียม สัดส่วนรายได้และกำไรที่ต่อเนื่องจากโครงการร่วมทุนและความเสี่ยงทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ยังพิจารณาถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางในขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระต้นทุนในการพัฒนาโครงการและต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการให้สูงมากขึ้นอีกด้วย

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 2 ขั้นเนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดในปี 2565

ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากอุปสงค์ในตลาดคอนโดมิเนียมที่ยังคงอ่อนตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยความพยายามที่จะเพิ่มรายได้และเร่งระบายสินค้าลงเหลือพร้อมเข้าพักอาศัย (Ready-to-move Inventory) ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงมากกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการเอาไว้ โดยอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 22% ในปี 2565 ซึ่งแตกต่างจากประมาณการของทริสเรทติ้งในปีที่แล้วที่คาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 32% หากปราศจากกำไรจากการขายที่ดินเพียงครั้งเดียวในช่วงท้ายปี 2565 แล้ว เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะติดลบมากกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งในปีที่แล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังรายงานผลขาดทุนสุทธิประมาณ 300 ล้านบาทในปี 2565 อีกด้วย

ด้วยตลาดคอนโดมิเนียมที่เริ่มฟื้นตัวในปี 2565 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดเนื่องจากบริษัทมีคอนโดมิเนียมพร้อมเข้าพักอาศัยมูลค่ากว่า 2.34 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเห็นว่าความสามารถของบริษัทในการระบายคอนโดมิเนียมพร้อมเข้าพักอาศัยด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่น่าพอใจเพื่อที่จะช่วยลดภาระหนี้นั้น ไม่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งเคยคาดการณ์ไว้

คาดการณ์การฟื้นตัวที่ช้าลง

แม้ว่าทริสเรทติ้งจะประมาณการรายได้และกำไรที่ดีขึ้นในปี 2566-2568 แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่ายังคงมีความไม่แน่นอนในความสามารถของบริษัทที่จะส่งมอบผลการดำเนินงานและผลประกอบการให้เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งหากผลการดำเนินงานและผลประกอบไม่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดหวังอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ได้ในอนาคต

สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 เป็นต้นไป ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.0-5.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 2566-2567 และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.4 พันล้านบาทในปี 2568 จาก 3.1 พันบาทล้านบาทในปี 2565 ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะแข็งแกร่งขึ้นที่ระดับ 30%-31% ในระหว่างปี 2566-2568 โดยได้รับอานิสงส์จากอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นจากโครงการที่เปิดใหม่ โครงการพร้อมเข้าพักอาศัย และการบริหารโครงการร่วมทุน ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโครงการร่วมทุนจะเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 500-550 ล้านบาทในช่วงปี 2566-2568 เนื่องจากทริสเรทติ้งประมาณการว่าจะมียอดการโอนต่อปีอยู่ในช่วง 7-9 พันล้านบาทจากโครงการที่อยู่อาศัยและจากการดำเนินงานที่มีกำไรของธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ (Serviced Apartment) ทริสเรทติ้งประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานปกติโดยไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จะอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2566 เป็นต้นไป ในขณะที่คาดว่าบริษัทจะยังคงรายงานผลขาดทุนสุทธิในปี 2566 ก่อนกลับมาเป็นบวกในปี 2567-2568.

สถานะทางการตลาดเป็นยอมรับ

ทริสเรทติ้งมองว่าแบรนด์ของบริษัทค่อนข้างได้รับผลกระทบในทางลบจากคดีความของโครงการ ?แอชตัน อโศก? ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ของบริษัท แม้ว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ทริสเรทติ้งประเมินว่าความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของบริษัทยังอยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายและยอดโอนในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต้น ๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ได้รับการจัดอับดับเครดิต ทริสเรทติ้งมองว่าคดีความอาจจะสิ้นสุดในปี 2566 ซึ่งหากบริษัทได้รับผลการตัดสินในทางบวกน่าจะช่วยฟื้นฟูแบรนด์และชื่อเสียงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทได้

ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของคดีความรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอันดับเครดิตของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ หากยอดขายและ/หรือยอดโอนในอนาคตของบริษัทลดลงโดยเป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์หรือจากคดีความอื่น ๆ จนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้ ทริสเรทติ้งก็อาจปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทลง

ความเสี่ยงทางการเงินอยู่ในระดับสูงแต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานที่คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ผลการดำเนินงานที่ถดถอยในช่วงปีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบให้ระดับหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 65%-68% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิและเงินทุนจากการดำเนินงานติดลบในช่วงปี 2563-2565 อย่างไรก็ตาม ในอนาคต

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 63%-65% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงสู่ระดับ 8-15 เท่าในช่วงปี 2566-2568 เงินทุนจากการดำเนินงานคาดการณ์ว่าจะกลับมาเป็นบวกในปี 2566 โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับ 1%-7%

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ที่มูลค่า 1.5-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยทริสเรทติ้งมองว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการที่เปิดจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุน ส่งผลให้บริษัทต้องเพิ่มเงินทุนและให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทลูกประมาณ 1.3-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยงบซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการใหม่ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 500 ล้านบาทในปี 2567 และ 2 พันล้านบาทในปี 2568

บริษัทจำเป็นจะต้องดำรงอัตราส่วนทางการเงินให้สอดคล้องตามเงื่อนไขทางการเงินของวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและหุ้นกู้ โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.0 เท่าและ 2.5 เท่า ตามลำดับ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.01 เท่าสำหรับเงื่อนไขทางการเงินของวงเงินกู้ยืมจากธนาคารและ 1.31 เท่าสำหรับเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ (โดยมีความแตกต่างกันในวิธีการคำนวณ) ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินอย่างระมัดระวังให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวได้

สภาพคล่องตึงตัวแต่คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทค่อนข้างตึงตัวแต่สามารถบริหารจัดการได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วยเงินสดจำนวน 6.9 พันล้านบาท (รวมเงินสดที่ได้มาจากการออกหุ้นกู้จำนวน 3.5 พันล้านบาทในช่วงปลายปี 2565) และวงเงินกู้ยืมระยะสั้นและเงินกู้โครงการจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้อีกจำนวนประมาณ 2.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ของบริษัทซึ่งมีมูลค่าขายรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 3.4 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้จากธนาคารในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.04 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วย เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 3.9 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวจำนวน 0.9 พันล้านบาท และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 5.6 พันล้านบาท บริษัทออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 4.0 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 บางส่วนและชำระหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (ANAN18PB) และบริษัทจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนจำนวนไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท เพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในส่วนที่เหลือที่จะครบกำหนดชำระในปี 2566 ด้วย ทั้งนี้ เงินกู้ระยะสั้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ชั่วคราวเพื่อใช้ในการซื้อที่ดินซึ่งจะถูกทดแทนด้วยเงินกู้โครงการระยะยาวในภายหลัง โดยคาดว่าบริษัทจะจ่ายชำระคืนเงินกู้โครงการด้วยกระแสเงินสดจากการโอนที่อยู่อาศัยในโครงการ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) อยู่ที่จำนวน 2.79 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่จำนวน 6.2 พันล้านบาทด้วย หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทแม่และหนี้สินรวมของบริษัทย่อยต่าง ๆ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 22%

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2566-2568 ดังนี้

? บริษัทจะเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ที่มูลค่าประมาณ 1.5-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

? งบประมาณในการซื้อที่ดินสำหรับโครงการของบริษัทเองจะอยู่ที่จำนวน 0.5-2 พันล้านบาทต่อปี

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ที่ระดับ 5.0-5.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566-2567 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 9.4 พันล้านบาทในปี 2568

? ส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากเงินลงทุนในโครงการร่วมทุนจะอยู่ที่ระดับ 500-550 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนสัญญาณของความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทที่อาจจะทำให้สถานะทางเครดิตอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือฐานะทางการเงินแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม การปรับเปลี่ยนแนวโน้มเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่?อาจเกิดขึ้นได้ หากบริษัทสามารถสร้างผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่ประมาณการไว้และปรับฐานะทางการเงินให้ดีขึ้นจนทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานกลับมาเป็นบวกในปี 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 2%-5% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 65% ในช่วงประมาณการ

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- การจัดอันดับเครดิตบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย, 12 มกราคม 2566

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (ANAN)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

ANAN237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,768.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

ANAN23OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 746.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB-

ANAN241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,412.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

ANAN241B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,188.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

ANAN241C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,224.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

ANAN247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,231.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB-

ANAN251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,811.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

ANAN251B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,176.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

ANAN256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,275.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB-

ANAN261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,823.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB-

ANAN19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BB

ANAN20PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BB

ANAN21PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BB

หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท (Hybrid Debentures) BB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ