ทริสเรทติ้งทบทวนอันดับเครดิตองค์กร “กทม.” ที่ระดับ “AA+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวการเมือง Tuesday October 20, 2009 07:37 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรให้แก่กรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปี 2553 หลังจากที่หดตัวในปี 2552 อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร การบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำมากและการดำรงเงินสะสมในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ รวมทั้งจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการถ่ายโอนภารกิจจากรัฐบาลกลางให้แก่กรุงเทพมหานครภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม และการก่อหนี้ในอนาคตซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รวมถึงการกำหนดกรอบวินัยในการบริหารหนี้ที่ชัดเจน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไปในขณะเดียวกันก็จะสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยรักษาวินัยทางการเงินและคงความแข็งแกร่งทางการเงินในระดับสูง รวมถึงการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคตจะต้องได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างระมัดระวังเพื่อให้เหมาะสมกับระดับรายได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ในปี 2551 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product — GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 2.29 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product — GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น ในช่วงปีงบประมาณ 2548-2551 กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากรโดยประมาณ 93%-95% เป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% และ 73%-75% ของรายได้ประจำตามลำดับ ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองกว่า 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉลี่ยอย่างละประมาณ 19%-20% ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจ ในปีงบประมาณ 2552 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรง ทำให้กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรภาษีจากรัฐบาลลดลงอย่างมาก โดยรายได้ของกรุงเทพมหานครใน 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 คิดเป็น 61% ของประมาณการรายได้ 46,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครสามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงโดยรายจ่าย 9 เดือนแรกคิดเป็น 51% ของงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้และเป็นไปตามนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุล อีกทั้งในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้สินที่ต่ำมาก ในขณะที่คงระดับเงินสดในระดับสูงกว่า 20,000 ล้านบาท จึงทำให้ฐานะทางการเงินของกรุงเทพมหานครยังคงความแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องสูงมาก

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ในเขตกรุงเทพมหานครจะมีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น แต่ก็ยังคงมีความต้องการในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของประชากรจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กิจการสาธารณูปโภคต่างๆ มีทั้งที่กรุงเทพมหานครริเริ่มดำเนินการเองและที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาจากรัฐบาลภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายผูกพันในอนาคตจำนวนมาก ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจไม่เพียงพอ อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังมีแผนการลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนที่ต้องการเงินลงทุนสูง ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงได้ศึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการระดมทุนจากตลาดทุนซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพมหานครมีความยืดหยุ่นทางการเงินเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการก่อหนี้ในอนาคตก็จะมีผลให้กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้นและอาจลดทอนความแข็งแกร่งลงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีการวางกรอบวินัยในการบริหารจัดการหนี้สินที่เหมาะสมเพื่อรักษาความแข็งแกร่งและสภาพคล่องทางการเงิน -- จบ

กรุงเทพมหานคร (BMA)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2552 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต  ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ   แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ  ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน  บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงมิได้รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้น ผลที่ได้รับ หรือการกระทำใดๆ โดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ