Media Talk: ผู้แทนภาครัฐและเอกชนถกอนาคตบล็อกเชนและเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Friday August 10, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุม ADES 2018 - ASEAN Digital Economy Summit "ธุรกิจบล็อกเชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล" ที่เปิดฉากขึ้นในช่วงที่บล็อกเชนกำลังแผ่อิทธิพลไปหลายภาคส่วนนั้น ตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทในแวดวงเทคโนโลยีและบล็อกเชนจากประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจาอย่างจีน ต่างนำเสนอมุมมองด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศตลอดจนนโยบายที่เอื้ออำนวยไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและบทบาทของบล็อกเชน

ไทยเผยความคืบหน้ายุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยีตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0"

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "โอกาสการลงทุนภายใต้นโยบายเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0" ในงาน ADES 2018 ว่า เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศโดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลงาน โดยใช้เวลาน้อยลง แต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เป็นยุคของการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ประกอบกับการติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านทางเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงซึ่งกำลังจะก้าวผ่านจากระบบ 4G เป็น 5G ที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นและมีความเร็วมากขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบดิจิทัลจนเป็นที่มาของ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่มุ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจากรูปแบบเดิมไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ภายใต้โมเดลในการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

สำหรับนโยบายของไทยนั้น รมว.ดิจิทัลกล่าวว่า การผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นในประเทศนั้น จำเป็นต้องอาศัยการประสานพลังจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน, ธนาคาร, ประชาชน, สถานศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็กำลังเดินหน้าเต็มสูบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเปิดรับเทคโนโลยีที่จะนำเอาโอกาสทางการค้าและการลงทุนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ซึ่งนอกจากเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาคที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างการเชื่อมโยงทางกายภาพ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ เรื่องของการสร้างความเท่าเทียมสังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รัฐบาลจึงเร่งผลักดันโครงการเน็ตประชารัฐตลอด 2-3 ปีมานี้ และคาดว่า หมู่บ้านทั่วประเทศที่มีอยู่เกือบ 75,000 หมู่บ้านจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ทั่วทั้งหมดภายในสิ้นปี 2561 ซึ่งนับเป็นการสร้างโอกาสมหาศาลให้กับชุมชน ด้วยการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป ให้ชาวบ้านสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้โดยตรงผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยมีบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้สนับสนุนด้านการขนส่ง ด้วยวิธีการชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการสร้างชีวิตชีวาขึ้นมาในชุมชนอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จากเดิมที่ร้านค้าเล็กๆในหมู่บ้านจะทำการค้าขายกันแต่เพียงในชุมชนเท่านั้น หลังจากนี้ไปพวกเขาจะสามารถนำสินค้าไปขายให้กับคนทั้งโลกได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เข้าสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล ใช้ประโยชน์บิ๊กดาต้าเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าการเติบโตของนวัตกรรมเทคโนโลยีทุกวันนี้นั้นไปไกลมากกว่าการที่จะเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไปแล้ว จึงได้เกิดแนวคิดของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลขึ้นมา โดยได้ผลักดันให้มีการนำเอาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาใช้ในการผนวกรวมข้อมูลจากทั้ง 20 กระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความเหมาะสมและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลก็กำลังร่วมมือกับกระทรวงการคลังเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการใช้งานดิจิทัลไอดีซึ่งในอนาคตจะกลายมาเป็นเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ อีกด้วย

เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคส่วนต่างๆแล้ว ดร.พิเชฐยังระบุอีกว่า สิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นก็คือเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแม้ตอนนี้เราจะมีกระทรวงศึกษาธิการที่คอยทำหน้าที่วางระบบการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันระบบดิจิทัลแล้ว กระทรวงอื่นๆก็ยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนซึ่งถือเป็นแนวหน้าในภาคเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯเองนั้น เราก็กำลังร่วมมือกับภาคต่างๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือซอฟแวร์ต่างๆได้มากขึ้น จนท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ยกเครื่องมาตรการกำกับดูแล เปิดรับนวัตกรรมในตลาดทุน

นอกจากนโยบายต่างๆของกระทรวงดิจิทัลแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องเตรียมการรับมือกับการเติบโตของนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน โดยนางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เข้ามาผลิกโฉมการให้บริการในตลาดทุนและเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ให้เราเตรียมต้องการรับมืออยู่ตลอดเวลา ซึ่งก.ล.ต. ก็ทราบดีถึงความจริงดังกล่าว และตระหนักได้ถึงความจำเป็นของกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักลงทุน ตลอดจนสร้างความเป็นธรรม และประสิทธิภาพให้กับตลาด

นางทิพย์สุดาระบุว่า ก.ล.ต.ตระหนักว่า เทคโนโลยีทางการเงินหรือ หรือฟินเทค ได้เข้ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน จึงก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลในเรื่องฟินเทคโดยเฉพาะ เพื่อทำการศึกษาและสร้างภูมิทัศน์ที่รอบด้านเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆเหล่านี้ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ ให้บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแบ่งปันอุปสรรค ความคิดเห็นต่างๆร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการสร้างมาตรการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสม ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ที่มีกรอบการกำกับดูแลไอซีโอ โดยไอซีโอถือว่าเป็นหลักทรัพย์ภายใต้พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากกฎหมายหลักทรัพย์เดิมที่มีอยู่แตกต่างจากกฎหมายของประเทศอื่นๆ เพราะกฎหมายไทยเขียนไว้ในลักษณะที่เราไม่สามารถตีความไอซีโอได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีคำนิยามใหม่ขึ้นมา ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ท่ามความความวิตกกังวลเกี่ยวกับความฉ้อฉลหลอกลวงและการฟอกเงิน และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจำเป็นต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมรอบด้าน

บทบาทของภาครัฐอินโดนีเซียที่มีต่อเศรษฐกิจดิจิทัล

นายสตีเวน ซูฮาดี ประธานสมาคมบล็อกเชนแห่งอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น บล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล กำลังได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดภายในอินโดนีเซีย อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทดลองทำธุรกิจ เนื่องจากอินโดนีเซียยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ โดยมีประชากรมากกว่า 260 ล้านคน และมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ดังนั้น นักลงทุนจึงต่างหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจสตาร์ทอัพ อีคอมเมิร์ซ รวมถึงธุรกิจบล็อกเชน และการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล

สำหรับภาครัฐบาลนั้น สตีเวน กล่าวเสริมว่า หน่วยงานจากภาครัฐของอินโดนีเซียมีจุดยืนที่เป็นบวก พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีพลิกโฉมเหล่านี้อย่างมาก เพราะตระหนักดีถึงศักยภาพและพลังของเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบในสังคมอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนและสังคมโลกเช่นกัน รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนควบคุมแนวทาง และออกกฎระเบียบเพื่อเข้ามากำกับดูแลทรัพย์สินเหล่านี้ด้วย

โอกาสของบล็อกเชน มุ่งยกระดับอาเซียน

สตีเวนกล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบล็อกเชนว่า บล็อกเชน จะเข้ามาเพิ่มโอกาสและพัฒนาภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ประกอบกัน และยังมีภาษาถิ่นเฉพาะของตน การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของการทำธุรกรรม การค้า หรือพาณิชย์ ด้วยการลดต้นทุนด้านเวลา และพลังงานอย่างมหาศาล ส่งผลให้การดำเนินการต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ สตีเวน ยังมองว่า สังคมอาเซียนเป็นกลุ่มที่เหมาะสมในการเติบโตของเทคโนโลยีบล็อกเชน ภูมิภาคอาเซียนมีขีดความสามารถที่จะก้าวทัน และทัดเทียมกับประเทศยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลที่กำลังรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป เนื่องจากอาเซียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอยู่ตลอดเวลา

เดินหน้าประเทศสู่อนาคต ด้วยธุรกิจบล็อกเชน

สตีเวน คาดการณ์เกี่ยวกับสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ในมุมมองของประธานสมาคมบล็อกเชนว่า เราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพึ่งพาธุรกิจบล็อกเชนหรือเทคโนโลยีพลิกโฉมอื่นๆได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมและรับมือ ในปัจจุบัน มีเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ผ่านบริการธุรกรรมออนไลน์ เช่น Wechat Pay หรือ Apple Pay ดังนั้น ยิ่งมีการชำระเงินบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นเท่าไร ผู้คนจะยิ่งคุ้นเคยกับเงินดิจิทัลมากขึ้นเท่านั้น และจะเอื้อไปสู่การใช้บล็อกเชนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือละเลยได้ และจำเป็นต้องเข้ามาออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมและกำกับดูแล

นอกจากความสะดวกของเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว สตีเวน กล่าวเสริมว่า ธุรกิจบล็อกเชนยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ภาครัฐโดยตรงในหลายด้าน ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหา อาทิเช่น การหลบหนีภาษี ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึงสองหรือสามเท่าอีกด้วย

ทั้งนี้ การประชุม ADES 2018 - ASEAN Digital Economy Summit "ธุรกิจบล็อกเชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล" เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่มีผู้แทนของรัฐบาลจากอาเซียนเข้าร่วมประชุม เพื่อประกาศนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีสถาบันนวัตกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน เป็นผู้จัดการประชุมร่วมกับสำนักข่าว China Report ASEAN ศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมกรุงเทพฯ (CAS) และสมาคมผู้สื่อข่าวไทยจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ