ไทย- ตุรกี ศึกษาร่วม FTA คืบหน้า ประตูการค้าสู่ EU

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 2, 2014 14:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางนิศา ศรีสุวรนันท์รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยและตุรกีเดินหน้าจัดทำการศึกษาร่วมถึงความเป็นไปได้ในการเปิดการค้าเสรี(FTA) ระหว่างกันต่อไป โดยผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการทำ FTA ไทย- ตุรกี จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูไปสู่ยุโรปเนื่องจากตุรกีเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เดียวกันกับEU และตุรกีใช้ไทยเป็นประตูไปสู่อาเซียนได้อีกด้วย

นางนิศา กล่าวว่า ไทยและตุรกี ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการร่วมกัน(JointPlan of Action) เมื่อปี 2556 และเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมสำหรับการจัดทำการศึกษาร่วมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี หรือ Joint Working Group (JWG) for a Free Trade Agreement between the Republic of Turkey and the Kingdom of Thailand ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าของการศึกษาร่วมดังกล่าวซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก พบว่าการทำ FTA ไทย- ตุรกีจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายไทยได้จัดจ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำการศึกษาร่วมของฝ่ายไทย ส่วนตุรกีได้มอบให้กระทรวงเศรษฐกิจทำการศึกษา พบว่า ในแง่การค้าสินค้าไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายตุรกีโดยเฉพาะเรื่อง GDP การลงทุน และการจ้างงาน และสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ ได้แก่ อาหารพลาสติก ตู้เย็น ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์ และสิ่งทอ ส่วนสินค้าที่คาดว่าตุรกีจะได้รับประโยชน์ได้แก่ หินอ่อนเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เครื่องนุ่งห่มตู้เย็น และยานยนต์

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังต้องศึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าก่อนที่จะสรุปผลการศึกษาในภาพรวมเสนอให้ระดับนโยบายตัดสินใจต่อไปโดยคาดว่า จะสามารถจัดทำการศึกษาร่วมฯ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของไทยโดยเป็นตลาดที่มีโอกาสเนื่องจากมีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีที่ตั้งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียยุโรป และอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงมีพรมแดนติดต่อกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไทยจึงสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูการค้า (Gateway) ไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น สหภาพยุโรปและยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลางแอฟริกา รวมทั้งกลุ่มประเทศบอลข่าน

ในปี 2556 ตุรกีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่39 ของไทย และเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จากสถิติการค้าไทย-ตุรกีในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2552- 2556)ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับตุรกีมาโดยตลอดโดยในปี 2556ไทยและตุรกีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งสิ้น 1,438.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ8.19 จากปีก่อนหน้า เป็นมูลค่าการส่งออก 1,119.52 ล้านเหรียญสหรัฐและนำเข้า 318.60ล้านเหรียญสหรัฐโดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับตุรกี คิดเป็นมูลค่า 800.92 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี2557 (มกราคม- เมษายน) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตุรกีคิดเป็นมูลค่า 480.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.13 การส่งออกมีมูลค่า 381.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ8.18 และนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 99.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.84สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตุรกี อาทิ (1)เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (2) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (3) เม็ดพลาสติก (4) ผลิตภัณฑ์ยาง (5) ยางพารา (6)ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ (7) อัญมณีและเครื่องประดับ (8) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (9) เส้นใยประดิษฐ์ และ (10) ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ