ผลการประชุมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 26

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 16:29 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี 2558 ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองลังกาวี โดยก่อนหน้าได้มีการประชุมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13 และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าครั้งที่ 13 (AEM-EU Consultations)

การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2558 โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2015 ซึ่งขณะนี้ อาเซียนได้ดำเนินมาตรการสำคัญดังกล่าวได้ร้อยละ 90.5 หรือ 458 จาก 506 มาตรการ (ไทยดำเนินการได้ร้อยละ 93.1) โดยมาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์แล้วร้อยละ 95.99 ของรายการสินค้า (สมาชิกอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่ลดภาษีเหลือศูนย์แล้วร้อยละ 99.2 และ 90.85 ตามลำดับ) การเปิดเสรีการค้าบริการ การปรับประสานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การจัดทำมาตรฐานพืชสวน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับมาตรการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2558 เช่น การลงนามและให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 การให้สัตยาบันพิธีสาร 7 แนบท้ายความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น โดยรองนายกฯ ได้เน้นย้ำว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 อาเซียนจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการให้ครบถ้วนให้ได้ โดยเฉพาะในด้านขนส่ง และการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ อาทิ การจัดตั้งระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือนอกรอบเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อเร่งรัดการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2015 โดยตกลงว่าจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง ก่อนการประชุมรัฐมนตรี RCEP ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ซึ่งที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว โดยมีกำหนดที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 47 พิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารในเดือนสิงหาคม ศกนี้

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าครั้งที่ 13 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าผู้แทนไทย ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปฉบับปี 2013-2014 และให้ความเห็นชอบแผนงานฯ ฉบับใหม่ปี 2015-2016 ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือสาขาต่างๆ เช่น สาขาบริการ พลังงาน การขนส่งทางอากาศ การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรฐานต่างๆ พิธีการศุลกากร การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งเวทีการหารือของผู้เชี่ยวชาญของสองภูมิภาคทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปในอนาคต ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้แสดงความประสงค์ที่จะให้มีการรื้อฟื้นการเจรจา FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป และเสนอให้มีการทบทวนและรวบรวมข้อมูลสถานะการเจรจาที่ได้หยุดชะงักตั้งแต่ ปี 2009

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 22 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์

สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีมูลค่าการค้าทั้งการค้าสินค้าและการค้าบริการ 246.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.8 ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญในอาเซียน มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในอาเซียนระหว่างปี 2011-2013 รวม 74,758 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ