ไทยและปากีสถาน เริ่มเจรจา FTA ระหว่างกันรอบแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 2, 2015 13:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยและปากีสถานเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีรอบแรก ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม 2558 ภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศได้ประกาศการเปิดเจรจา FTA ระหว่างกัน ระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ ซึ่งในการเจรจาครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จะมีการหารือโครงสร้างความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน และแผนการเจรจา รวมถึงเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบ เพื่อให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในกำหนด

นางสาวสุนันทา กล่าวว่า ไทยและปากีสถานจะได้รับประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว โดยจะเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 200 ล้านคน (อันดับ 6 ของโลก) ซึ่งในจำนวนนี้มีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงถึงประมาณ 30 ล้านคน นอกจากนี้ ปากีสถานยังมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์การค้า สามารถเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าของไทย เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคตะวันตกของจีน เอเชียกลางและภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงโลกมุสลิม ซึ่งมีกว่า 50 ประเทศในกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ คิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดโลก จึงเป็นโอกาสของสินค้าฮาลาลของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบต่อการผลิตของไทย เช่น อัญมณี และสัตว์น้ำ เป็นต้น และปากีสถานก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน โดยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆอย่างเสรี เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยสามารถใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและแรงงานจากหลายประเทศสมาชิกเพื่อนำมาใช้ในการผลิต โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่น่าลงทุนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับคู่ค้าของอาเซียน เช่น ปากีสถาน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ก็มีนักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว

ในปี 2557 (2014) ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,014.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 2.40 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 734.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกมูลค่า 874.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 6.97 และนำเข้ามูลค่า 140.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 40.86

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้า

สินค้าส่งออกของไทย เช่น เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สินค้านำเข้าจากปากีสถาน เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องดนตรีของเล่นเครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่นๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ