ทิศทางสหรัฐอเมริกาหลังพิธีสาบานตนกระทบอย่างไรต่อไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 24, 2017 13:58 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

"ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วยความซื่อสัตย์ และจะดูแล รักษา คุ้มครอง และปกป้องรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ อย่างสุดความสามารถ"เป็นถ้อยคำที่นายโดนัล ทรัมป์ ได้กล่าวสาบานเข้าตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากประชาชน พร้อมกับได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนชาวอเมริกันเป็นครั้งแรก ซึ่งมีหลายประโยคที่เป็นการตอกย้ำนโยบาย America First ตามที่ได้เคยกล่าวในช่วงการหาเสียงอาทิ

  • "จากช่วงเวลานี้ไป ผลประโยชน์ของอเมริกาจะต้องมาก่อน"
  • "ทุกการตัดสินใจด้านการค้า" ภาษี การอพยพของต่างด้าว และด้านการต่างประเทศ จะต้องเอื้อต่อผลประโยชน์ของแรงงานอเมริกันและครอบครัวชาวอเมริกัน"
  • "เราต้องปกป้องประเทศจากความเสียหายที่สร้างโดยประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าของเราขโมยบริษัทสหรัฐฯไปและทำลายการจ้างงานในสหรัฐฯ การปกป้องนำมาซึ่งความร่ำรวยและแข็งแกร่งของอเมริกา"
  • "อเมริกาจะชนะอีกครั้งและจะชนะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน"
  • "เราจะนำการจ้างงานกลับมา เราจะนำประเทศของเรากลับมา เราจะนำความมั่งคั่งกลับ และเราจะนำความฝันกลับมา"
  • "เราจะสร้างถนนใหม่ทางหลวง สะพาน สนามบิน อุโมงค์และทางรถไฟ ทั่วประเทศ"
  • "เราจะทำตามกฎง่ายๆ 2 ข้อ คือ ซื้อของอเมริกัน และจ้างงานชาวอเมริกัน"

จากสุนทรพจน์ดังกล่าว คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ จะมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบกีดกันการค้ามากขึ้นคือ "ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ต้องมาก่อนเสมอ"รวมทั้งจะเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่มีการจัดซื้อจัดจ้างภายในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้มีการกล่าวออกมาชัดเจน แต่ประเทศที่น่าจะเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะเล่นงาน คงหนีไม่พ้นจีน และเม็กซิโก ที่ปัจจุบันเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ยังคงนโยบายดึงการผลิตของบริษัทเหล่านี้กลับประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ก็ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวถึงขั้นต้องการให้สหรัฐฯอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหมือนที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์เอาไว้เนื่องจากได้กล่าวว่า "เราจะแสวงหาพันธมิตรและความจริงใจจากประเทศต่างๆทั่วโลกแต่เราจะทำบนพื้นฐานของความเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นอันดับแรก" และ"เราจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรเก่าแก่และเริ่มต้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่และรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายอิสลาม ซึ่งเราจะจำกัดให้หมดไปจากโลกนี้"

ในส่วนของไทย เช่นเดียวกับประเทศพันธมิตรทางการค้าอื่นของสหรัฐฯ ไทยคงต้องเผชิญกับการผลักดันเชิงรุกอย่างแข็งกร้าวในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสหรัฐฯและมาตรการของไทยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทสหรัฐฯในไทยซึ่งหากประกอบกับนโยบายดึงฐานการผลิตกลับประเทศของสหรัฐฯ แล้ว อาจส่งผลต่อแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัทสหรัฐฯด้วยการตัดสินใจไม่ขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ไทยอาจเผชิญกับมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ อาทิ มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรฐานทางเทคนิคของสินค้า รวมทั้งในด้านทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP แก่ประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 นี้หรือไม่

อย่างไรก็ดีในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียที่มีความสัมพันธ์ที่ดียาวนานถึง 184 ปี ทั้งสองฝ่ายคงเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องเร่งสานสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งมากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งมีเวทีการประชุมประจำปีอย่าง TIFA JC ไทย-สหรัฐฯ เป็นช่องทางเสริมสร้างความร่วมมือและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนร่วมกัน ประกอบกับ การที่สหรัฐฯ ยังเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายภายใต้นโยบาย Strategic Partnership ของไทย ที่เน้นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งยังมีเวทีภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐฯที่ได้ดำเนินความสัมพันธ์มาครบ 40 ปีในปีนี้จึงคาดว่า การค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเติบโตมากขึ้น และภาคเอกชนสหรัฐฯจะยังคงสานต่อกิจกรรมทางการค้าเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ต่อความตกลง TPP ซึ่งจนถึงขณะนี้คงเป็นที่แน่นอนของ "การล่มสลายของความตกลง TPP"เนื่องจากภายหลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานเว็ปไซต์ของทำเนียบขาวได้ประกาศว่า"รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะถอนตัวออกจากความตกลง TPP"โดยการจัดทาข้อตกลงทางการค้าใดๆ ของสหรัฐฯ ต้องเห็นถึงผลประโยชน์ของแรงงานอเมริกันเป็นสำคัญซึ่งตามเงื่อนไขของ TPP แล้ว ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ไม่ได้หากขาดสหรัฐฯ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกความตกลง TPP พร้อมทั้งกล่าวว่า "สิ่งที่ได้ดำเนินการไปเป็นสิ่งที่ดีต่อแรงงานชาวอเมริกัน" นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องการเจรจาทบทวนความตกลง NAFTA กับแคนาดาและเม็กซิโกใหม่เพื่อให้ FTA ฉบับดังกล่าวเป็นธรรมต่อแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งหากทั้งสองประเทศปฏิเสธการเจรจาดังกล่าว สหรัฐฯ ก็จะถอนตัวจาก NAFTA เช่นกัน โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นจดเริ่มต้นของการดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ที่เชื่อว่า "การปกป้องนำมาซึ่งความร่ำรวยและแข็งแกร่งของอเมริกา" รวมทั้งประธานาธิบดีฯ จะสั่งการให้นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าทุกประเภทกับประเทศคู่ค้าที่ละเมิดความตกลงฯ

การล่มสลายของความตกลง TPP จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกฯ แต่กลับจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยจะไม่ได้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ความตกลง TPP เหมือนที่คาดหวังไว้ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแข่งขันทางการค้าของไทยโดยไทยจะยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มประเทศ TPP และการเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าโลก รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการขนส่งของภูมิภาค

อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าความตกลง TPP จะไม่เกิดขึ้นในขณะนี้แต่พันธกรณีของความตกลง TPP ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของความตกลง FTA ในศตวรรษที่ 21 ไปแล้วดังนั้น ไทยคงต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะในประเด็นที่ไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขัน เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าให้ทัดเทียมกับประเทศต่างๆเนื่องจากประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP ได้ยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นสู่สากลแล้วหลายด้าน นอกจากนี้ เมื่อไม่มี TPP แล้ว RCEP จะกลายเป็นความตกลง FTA ในระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ณ ขณะนี้ ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว จึงเชื่อว่า ประเทศที่เดิมทีเป็นทั้งสมาชิกของทั้งสองความตกลงฯ อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน จะมีเวลาหันกลับมาผลักดันความตกลง RCEP ให้สรุปผลได้โดยเร็ว

ต่อจากนี้ เราคงต้องติดตามดูว่า นโยบายแบบ America First ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ จะสามารถนาความแข็งแกร่งกลับมายังสหรัฐฯ เหมือนที่คาดหวังไว้หรือไม่ และประเทศสมาชิก TPP อีก 11 ประเทศจะทำอย่างไรเมื่อความตกลง TPP ไม่มีแล้ว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สำนักอเมริกา แปซิฟิกและองค์การระหว่างประเทศ

มกราคม 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ