สหรัฐฯ พอใจ ไทยเดินหน้าแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแรงงาน ตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญการต่ออายุ GSP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 19, 2017 14:28 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการพบหารือกับนายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าสหรัฐฯ ยินดีและพอใจที่ไทยมีความคืบหน้าการดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO โดยได้ขอให้สหรัฐฯ ปิดการไต่สวนกรณีที่สมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ (AFL-CIO) กล่าวหาว่า ไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของแรงงานอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล เนื่องจากไทยได้เดินหน้าเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ILO แล้ว และคาดว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ (AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ขอให้ถอดถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐฯ ให้ไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยไม่ได้มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว ตามมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และเมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจต่ออายุโครงการ GSP ให้ไทยไปจนถึงสิ้นปี 2560 AFL-CIO จึงได้ยื่นคำร้องต่อ USTR อีกครั้งในปี 2558 ขอให้ถอดไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP โดยอ้างเหตุผลว่า การคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ILO

นางอภิรดี กล่าวว่า หลักเกณฑ์สำคัญที่สหรัฐฯ ใช้พิจารณาให้ GSP แก่ประเทศคู่ค้าที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย คือ ระดับการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องมีรายได้มวลรวมประชาขาติต่อหัว (Gross National Income per capita : GNI per capita) ไม่สูงกว่า 12,475 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับ GNI per capita ของไทยประมาณ 5,720 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และมีการคุ้มครองแรงงานในระดับมาตรฐานสากล ในส่วนของแรงงาน ไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการยกร่างพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ และร่างพ.ร.บ. วิสาหกิจสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และ สนช. โดยมีแผนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2560 และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในเดือนธันวาคม 2560 ในโอกาสพบหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ครั้งนี้ ไทยจึงได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงาน และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปิดการไต่สวนกรณีที่สมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ หยิบยก ซึ่งสหรัฐฯ พอใจที่ไทยมีการดำเนินการเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน จึงน่าจะนำไปสู่การปิดคำร้องทบทวนการให้สิทธิ GSP แก่ไทย ตามที่ AFL-CIO กล่าวหาไทยต่อไป

ไทยถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 2 (รองจากอินเดีย) โดยในปี 2559 ไทยใช้สิทธิ GSP เป็นมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้ GSP ร้อยละ 70 ของรายการสินค้าที่ได้ GSPโดยสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSPจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีกว่า 3,400 รายการ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม ถุงมือทำจากยาง เป็นต้น ทำให้สินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ GSP มีความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

16 กันยายน 2560

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ