กรมเจรจาฯ จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย จัดสัมมนาและลงพื้นที่พบเกษตรกรกาแฟภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2018 14:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย จัดงานสัมมนาลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกาแฟภาคใต้ ระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2561 ชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA และเตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดชุมพร ต่อจากการจัดสัมมนาและลงพื้นที่ในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยการจัดสัมมนาและลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจกาแฟ ทราบถึงช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีสินค้ากาแฟภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ในปี 2563

นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 26,000 ตันต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีถึง 90,000 ตันต่อปี จึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟปีละประมาณ 60,000 ตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว ซึ่งไทยเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ร้อยละ 5 และยกเว้นการเก็บภาษีเมล็ดกาแฟคั่ว ในขณะที่ประเทศอาเซียนเปิดเสรียกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าทั้งเมล็ดกาแฟดิบและกาแฟคั่ว ยกเว้นเมียนมาที่ยังเก็บภาษีเมล็ดกาแฟคั่วบางชนิดที่ร้อยละ 5

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟสำเร็จรูป กาแฟ 3 in 1 เนื่องจากไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 8 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 30,000 ตันต่อปี โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว เมียนมา และจีน โดยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ FTA กลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์กาแฟระหว่างกัน ส่วนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) จีนเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์กาแฟจากไทยอยู่ที่ร้อยละ 17 – 32 และไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์กาแฟจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิก WTO อื่น คืออัตราภาษีในโควตาที่ร้อยละ 40 และอัตราภาษีนอกโควตาที่ร้อยละ 49 โดยโควตาที่จัดสรรให้จีนและประเทศสมาชิก WTO อื่น รวมกันอยู่ที่ 134 ตันต่อปี

นางอรมน เสริมว่า เนื่องจากกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟและผลิตภัณฑ์ของไทย รองรับการเปิดตลาดภายใต้ FTA จึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย จัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรี ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดชุมพร โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกเข้าร่วม เพื่อหารือถึงโอกาสและติดตามความคืบหน้า การเตรียมการรับมือการเปิดเสรีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะความตกลง FTA ไทย – ออสเตรเลีย ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาและรักษาคุณภาพกาแฟให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและการหาตลาด ซึ่งจะต่อยอดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นเรื่องการผลิตและการพัฒนาพันธุ์ เป็นต้น การสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรจากหลายภาคส่วน อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน สมาคมกาแฟไทย มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และบริษัทผลิตกาแฟชั้นนำของไทย เข้าร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำสวนเขาทะลุด้วย

“ปัจจุบันการบริโภคกาแฟของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ความต้องการใช้กาแฟของโลกอยู่ที่ 9.33 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปี 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากปี 2555 และอุตสาหกรรมกาแฟไทยก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีความต้องการใช้กาแฟกว่า 90,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.5 จากปี 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปี 2555 ดังนั้น จากความต้องการกาแฟของโลกและของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยมีโอกาสพัฒนาและเติบโตในอนาคต ซึ่งภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการปลูกถึงร้อยละ 75 ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย โดยจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟตลอดห่วงโซ่มูลค่าในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกการค้าเสรี และชี้โอกาสกาแฟไทยในอนาคตต่อไป” นางอรมน กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

8 มีนาคม 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ