กรุงเทพโพลล์: ประเทศไทยกับการปฏิรูป

ข่าวผลสำรวจ Tuesday December 17, 2013 07:03 —กรุงเทพโพลล์

ประชาชน 79% ชี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป 41% บอกการปฏิรูปต้องเริ่มที่ด้านการเมืองการปกครอง 75% อยากให้ปฏิรูปเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกฎหมายมากที่สุด และ 40% เชื่อภาคประชาชน คือกลไกสำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนครอบคลุม 75 จังหวัดจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 631 คน ในหัวข้อ “ประเทศไทยกับการปฏิรูป” พบว่า

ประชาชนร้อยละ 79.3 เห็นว่าในเวลานี้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปด้านต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 20.7 เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องปฏิรูป เมื่อถามต่อว่าหากจำเป็นต้องปฏิรูป การปฏิรูปต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังในด้านใดก่อน ร้อยละ 41.0 เห็นว่าควรปฏิรูปด้านการเมือง/การปกครองก่อน รองลงมาร้อยละ 22.8 เห็นว่าควรปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ และร้อยละ 20.6 เห็นว่าควรปฏิรูปด้านกฎหมาย

สำหรับเรื่องที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปมากที่สุดคือ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกฎหมาย (ร้อยละ 75.4 ) รองลงมาเป็นเรื่องการซื้อเสียงเลือกตั้ง(ร้อยละ 67.4) และเรื่องคดีคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ (ร้อยละ 67.0) ส่วนประเด็นการปฏิรูปวงการตำรวจมีประชาชนร้อยละ 32.0 ที่ต้องการให้มีการปฏิรูป เช่นเดียวกับประเด็นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนร้อยละ 31.9 ที่ต้องการให้มีการปฏิรูป

สุดท้ายเมื่อถามว่า ภาคส่วนใดคือกลไกสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป ร้อยละ 39.6 บอกว่า ภาคประชาชน รองลงมาร้อยละ 24.1 คือ ผู้นำประเทศ และร้อยละ 17.6 คือ ภาคนักการเมือง ขณะที่ กองทัพ ภาคนักวิชาการ และภาคธุรกิจมีประชาชนเพียงร้อยละ 7.0 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับที่เห็นว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป

รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เวลานี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปด้านต่างๆ หรือไม่
          ร้อยละ   79.3          เห็นว่า “จำเป็นต้องปฏิรูป”
          ร้อยละ   20.7          เห็นว่า “ไม่จำเป็นต้องปฏิรูป”

2. หากต้องปฏิรูป  การปฏิรูปต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังในด้านใดมากที่สุดก่อน
          ร้อยละ   41.0          การเมือง/การปกครอง
          ร้อยละ   22.8          เศรษฐกิจ
          ร้อยละ   20.6          กฎหมาย
          ร้อยละ   13.5          สังคม
          ร้อยละ    2.1          อื่นๆ คือ  การศึกษา  ศีลธรรม  จิตสำนึก

3. หากต้องปฏิรูป  อยากให้มีการปฏิรูปเรื่องใดมากที่สุด 3 ลำดับแรก
          ร้อยละ   75.4          ความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกฎหมาย
          ร้อยละ   67.4          การซื้อเสียงเลือกตั้ง
          ร้อยละ   67.0          คดีคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ
          ร้อยละ   32.0          ปฏิรูปวงการตำรวจ
          ร้อยละ   31.9          ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง
          ร้อยละ   16.6          ปฏิรูปสื่อมวลชน
          ร้อยละ    2.9          อื่นๆ เช่น วินัยของคนไทย  ความคิด การศึกษา คุณธรรม

4. ภาคส่วนใดคือกลไกสำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป
          ร้อยละ   39.6          ภาคประชาชน
          ร้อยละ   24.1          ผู้นำประเทศ
          ร้อยละ   17.6          ภาคนักการเมือง
          ร้อยละ    7.0          กองทัพ
          ร้อยละ    6.0          ภาคนักวิชาการ
          ร้อยละ    3.0          ภาคธุรกิจ
          ร้อยละ    2.7          อื่นๆ ข้าราชการ  ทุกภาคส่วน

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนว่าในเวลานี้ประเทศไทยควรต้องปฏิรูปหรือไม่ และถ้าหากจะมีการปฏิรูป ควรจะปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง และใครคือผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) และใช้วิธีเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 631 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.8 และเพศหญิงร้อยละ 50.2

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ด้วยแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 12 - 14 ธันวาคม 2556

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 15 ธันวาคม 2556

ข้อมูลประชากรศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน (คน) ร้อยละ เพศ

          ชาย                                      314           49.8
          หญิง                                      317           50.2
                    รวม                            631            100
อายุ
          18 – 25  ปี                                75           11.9
          26 – 35  ปี                               139             22
          36 – 45  ปี                               158             25
          46 – 55  ปี                               170           26.9
          56  ปีขึ้นไป                                 89           14.2
                    รวม                            631            100
การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                             407           64.5
          ปริญญาตรี                                  173           27.4
          สูงกว่าปริญญาตรี                              51            8.1
                    รวม                            631            100
อาชีพ
          ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 84           13.3
          พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน                 121           19.2
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว                  157           24.9
          รับจ้างทั่วไป                                 94           14.9
          พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ                      59            9.4
          นักศึกษา                                     31           4.9
          เกษตรกร                                    78          12.4
          อื่นๆ อาทิ  อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น              7             1
                    รวม                             631           100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ