กรุงเทพโพลล์: พุทธศาสนิกชนกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาเดือน 8

ข่าวผลสำรวจ Wednesday July 9, 2014 10:00 —กรุงเทพโพลล์

ชาวพุทธ 78.5% อยากออกมาทำบุญ เข้าวัดมากขึ้นยามบ้านเมืองสงบสุข ส่วนนักดื่มเกือบ 1 ใน 2 ตั้งใจจะงดเหล้าเข้าพรรษา ชี้ผิดศีลข้อ 5 ดื่มสุรา ยาเสพติด สร้างปัญหาให้สังคมมากที่สุด และกว่า 80% อยากให้ คสช. ทำบุญประเทศเพื่อเป็นสิริมงคลในการปฏิรูปสร้างความปรองดอง

เนื่องในวันที่ 11 และวันที่ 12 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรื่อง “พุทธศาสนิกชนกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาเดือน 8” ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,187 คน พบว่า ชาวพุทธร้อยละ 86.8 เห็นว่า บรรยากาศการออกมาทำบุญ เข้าวัด ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ในปีนี้ จะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ร้อยละ 45.9 บอกว่าออกมาพอๆกับปีที่ผ่านมา และร้อยละ 40.9 บอกว่าออกมามากกว่าปีที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 13.2 ที่เห็นว่าจะออกมาทำบุญน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าความสงบสุขทางสังคมและการเมืองในช่วงนี้ ทำให้อยากออกมาทำบุญ เข้าวัดมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าใช่หรือไม่ ร้อยละ 78.5 บอกว่า “ใช่” ขณะที่ร้อยละ 21.5 บอกว่า “ไม่ใช่” โดยสิ่งที่ตั้งใจจะทำมากที่สุดในช่วงวันสำคัญทางศาสนาที่จะถึงนี้คือ ตื่นเช้า ทำบุญตักบาตร (ร้อยละ 74.1) รองลงมาคือ ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน (ร้อยละ 30.7) และเข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม (ร้อยละ 27.7)

นอกจากนี้เมื่อถามว่าศีล 5 ข้อใดที่คิดว่าจะปฏิบัติไม่ได้มากที่สุดในช่วงเข้าพรรษานี้ ร้อยละ 33.6 บอกว่าเป็น ข้อ 5 ไม่ดื่มสุรา เครื่องดองของเมาทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ขาดสติ รองลงมาร้อยละ 32.1 บอกว่าเป็นข้อ 4 ไม่พูดเท็จ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียดหรือให้ร้ายผู้อื่น และร้อยละ 26.9 บอกว่าเป็นข้อ 1 ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ส่วนความเห็นต่อการประพฤติผิดศีล 5 ในข้อใดที่จะสร้างปัญหาให้สังคมมากที่สุด ร้อยละ 48.1 เห็นว่าเป็นข้อ 5 ไม่ดื่มสุรา เครื่องดองของเมาทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ขาดสติ รองลงมาร้อยละ 20.2 เห็นว่าเป็นข้อ 2 ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น และร้อยละ 16.9 เห็นว่าเป็นข้อ 3 ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ผิดลูกเขาเมียใคร

ด้านความตั้งใจจะงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาพบว่าร้อยละ 54.8 ตั้งใจจะไม่งด ขณะที่ร้อยละ 45.2 ตั้งใจจะงด โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 26.9 จะงดตลอด 3 เดือน ขณะที่ร้อยละ 18.3 จะงดแต่อาจไม่ครบ 3 เดือน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักที่ตั้งใจงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้คือ อยากให้สุขภาพกาย และสุขภาพจิตดีขึ้น (ร้อยละ 39.7) รองลงมาคือ เพื่อทำให้ดื่มน้อยลง (ร้อยละ 16.7) และอยากทำบุญด้วยวิธีนี้ (ร้อยละ 12.0)

สุดท้ายเมื่อถามว่า “ท่านอยากให้ คสช. จัดกิจกรรมทำบุญประเทศเพื่อความเป็นสิริมงคลในการสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศหรือไม่” ร้อยละ 80.1 อยากให้มีการจัด ขณะที่ร้อยละ 19.9 เห็นว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้

รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. บรรยากาศการออกมาทำบุญ เข้าวัด ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ในปีนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ออกมาไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา                                   ร้อยละ 86.8
          ในจำนวนนี้จะ   ออกมามากกว่าปีที่ผ่านมา              ร้อยละ 40.9
                       ออกมาพอๆกับปีที่ผ่านมา               ร้อยละ 45.9
ออกมาน้อยกว่าปีที่ผ่านมา                                     ร้อยละ 13.2

2. ความสงบสุขทางสังคมและการเมืองในช่วงนี้ ทำให้อยากออกมาทำบุญ เข้าวัดมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าใช่หรือไม่
          ใช่                                           ร้อยละ 78.5
          ไม่ใช่                                         ร้อยละ 21.5

3. สิ่งที่ตั้งใจจะทำในช่วงวันสำคัญทางศาสนาที่จะถึงนี้ (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ตื่นเช้า ทำบุญตักบาตร                                       ร้อยละ 74.1
ถวายเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน                                ร้อยละ 30.7
เข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม                                    ร้อยละ 27.7
งดเว้นอบายมุข                                            ร้อยละ 25.8
ปล่อยนกปล่อยปลา                                          ร้อยละ 24.0
ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม                                      ร้อยละ 22.6
รักษาศีลเจริญภาวนา                                        ร้อยละ 17.8

4. ศีล 5 ข้อใดที่คิดว่าจะปฏิบัติไม่ได้มากที่สุดในช่วงเข้าพรรษานี้
ข้อ 1 ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น                        ร้อยละ 26.9
ข้อ 2 ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น                       ร้อยละ  3.8
ข้อ 3 ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ผิดลูกเขาเมียใคร                   ร้อยละ  3.6
ข้อ 4 ไม่พูดเท็จ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียดหรือให้ร้ายผู้อื่น            ร้อยละ 32.1
ข้อ 5 ไม่ดื่มสุรา เครื่องดองของเมาทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ขาดสติ      ร้อยละ 33.6

5.  การประพฤติผิดศีล 5 ในข้อใดที่จะสร้างปัญหาให้สังคมมากที่สุด
ข้อ 1 ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น                        ร้อยละ  3.2
ข้อ 2 ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น                       ร้อยละ 20.2
ข้อ 3 ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ผิดลูกเขาเมียใคร                   ร้อยละ 16.9
ข้อ 4 ไม่พูดเท็จ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียดหรือให้ร้ายผู้อื่น            ร้อยละ 11.6
ข้อ 5 ไม่ดื่มสุรา เครื่องดองของเมาทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ขาดสติ      ร้อยละ 48.1

6. ความตั้งใจจะงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา(ถามเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอลล์)
ตั้งใจจะงด                                               ร้อยละ 45.2
          โดย   จะงดตลอด 3 เดือน                        ร้อยละ 26.9
                จะงดแต่อาจไม่ครบ 3 เดือน                  ร้อยละ 18.3
ตั้งใจจะไม่งด                                             ร้อยละ 54.8

7. วัตถุประสงค์หลักที่ตั้งใจงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ (ถามเฉพาะผู้ที่ตั้งใจจะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา)
อยากให้สุขภาพกาย และสุขภาพจิตดีขึ้น                           ร้อยละ 39.7
เพื่อทำให้ดื่มน้อยลง                                         ร้อยละ 16.7
อยากทำบุญด้วยวิธีนี้                                         ร้อยละ 12.0
ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น                                 ร้อยละ 10.0
ไม่ได้คิดอะไรเลย แค่อยากงดดื่มเหล้าบ้างในช่วงนี้                  ร้อยละ 10.0
ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น                              ร้อยละ  7.0
ทำให้อยากเลิกดื่มเหล้าได้                                    ร้อยละ  4.6

8. ข้อเสนอให้ คสช. จัดกิจกรรมทำบุญประเทศเพื่อความเป็นสิริมงคลในการสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศหรือไม่
อยากให้มี                                                ร้อยละ 80.1
ยังไม่จำเป็นต้องมีในตอนนี้                                    ร้อยละ 19.9

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

1. เพื่อต้องการทราบถึงสิ่งที่ตั้งใจจะทำในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนาทั้งวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

2. เพื่อสะท้อนข้อเสนอให้ คสช. จัดกิจกรรมทำบุญประเทศเพื่อความเป็นศิริมงคลในการสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศหรือไม่

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกสาขาอาชีพ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 24 เขต จาก 50 เขต ทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ได้แก่ คลองเตย ดอนเมือง ดินแดง ทุ่งครุ ธนบุรี บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางเขน บางซื่อ บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบ พระนคร ภาษีเจริญ ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง วังทองหลาง สะพานสูง และสาทร ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,187 คน เป็นชายร้อยละ 49.4 และหญิงร้อยละ 50.6

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ซึ่งเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :   4 - 7 กรกฎาคม 2557
          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :   9 กรกฎาคม 2557

ข้อมูลประชากรศาสตร์

จำนวน ร้อยละ เพศ

          ชาย                                 586      49.4
          หญิง                                 601      50.6
                    รวม                     1,187       100
อายุ
          18 – 25 ปี                           299      25.2
          26 – 35 ปี                           312      26.3
          36 – 45 ปี                           278      23.4
          46 ปีขึ้นไป                            298      25.1
                    รวม                     1,187       100
การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                        694      58.5
          ปริญญาตรี                             442      37.2
          สูงกว่าปริญญาตรี                         51       4.3
                    รวม                     1,187       100
อาชีพ
          ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ           160      13.5
          พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน            341      28.7
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว             304      25.6
          เจ้าของกิจการ                          29       2.4
          รับจ้างทั่วไป                           139      11.7
          พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ                 62       5.2
          นักศึกษา                              130        11
          อื่นๆ อาทิ อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น        22       1.9
                    รวม                     1,187       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ