กรุงเทพโพลล์: “เปรียบเทียบนโยบายข้าวจากยุคอภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ ถึง คสช. นโยบายใดโดนใจนักเศรษฐศาสตร์”

ข่าวผลสำรวจ Wednesday July 30, 2014 09:28 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 63.9% ให้นโยบายลดต้นทุนการผลิตของ คสช. เหนือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรในยุคอภิสิทธิ์ และนโยบายจำนำข้าวในยุคยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์เพียง 13.9% และ 1.4% ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 34 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง “เปรียบเทียบนโยบายข้าวจากยุค อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ ถึง คสช. นโยบายใดโดนใจนักเศรษฐศาสตร์” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 – 28 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 63.9 ให้นโยบายลดต้นทุนการผลิต(ข้าว) ของ คสช. เหนือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรในยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ และนโยบายจำนำข้าวในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์เพียงร้อยละ 13.9 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจากประเด็นการประเมินใน 5 ด้านพบว่านโยบายลดต้นทุนการผลิตของ คสช. ได้รับการประเมินที่เหนือกว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกร และ นโยบายจำนำข้าวในทุกประเด็นโดยเฉพาะประเด็นการเป็นภาระต่อต้นทุนทางการคลังน้อย(ร้อยละ 58.3 บอกว่าใช่) การสะท้อนกลไกราคา(ร้อยละ 56.9) ถัดมาเป็นประเด็นการเอื้อให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพการผลิต(ร้อยละ 41.7) การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น(ร้อยละ 41.7) และประเด็นชาวนาได้รับสิทธิ์ทั่วถึง และเท่าเทียม(ร้อยละ 40.3)

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายลดต้นทุนการผลิตข้าวของ คสช. ดังนี้

อันดับ 1 ต้องให้ความสำคัญกับการตลาด การขยายตลาด ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงควรดูแลกลไกตลาดให้มีการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวนา

อันดับ 2 การดำเนินนโยบายลดต้นทุนต้องทำพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) อย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม ด้วยการทำ zoning พื้นที่เกษตร การปรับปรุงคุณภาพข้าว การปรับปรุงระบบชลประทาน การปรับปรุงคุณภาพดิน

อันดับ 3 บูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ของเกษตรกร หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้แปรรูปสินค้า ภาคอุตสาหกรรม แล้วถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. เปรียบเทียบนโยบายข้าวจากยุคอภิสิทธ์ ยิ่งลักษณ์ ถึง คสช.

             ประเด็นการเปรียบเทียบ                                             นโยบาย
                                                         ประกันรายได้         จำนำข้าว       ลดต้นทุนการผลิต
                                                          (ยุคอภิสิทธิ์)        (ยุคยิ่งลักษณ์)       (ยุค คสช.)
1.1 สะท้อนกลไกราคา                           ใช่              31.90%           0.00%            56.90%
                                            ไม่ใช่            54.20%          97.20%            22.20%
                                            ไม่แน่ใจ          13.90%           2.80%            20.90%
1.2 ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น                     ใช่              13.90%           1.40%            41.70%
                                            ไม่ใช่            47.20%          93.10%            15.30%
                                            ไม่แน่ใจ          38.90%           5.50%            43.00%
1.3 เอื้อให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพการผลิต             ใช่              13.90%           2.80%            41.70%
                                            ไม่ใช่            61.10%          88.90%            25.00%
                                            ไม่แน่ใจ          25.00%           8.30%            33.30%
1.4 การเป็นภาระต่อต้นทุนทางการคลังน้อย            ใช่              27.80%           1.40%            58.30%
                                            ไม่ใช่            55.60%          95.80%            12.50%
                                            ไม่แน่ใจ          16.60%           2.80%            29.20%
1.5 ชาวนาได้รับสิทธิ์ทั่วถึง และเท่าเทียม             ใช่              29.20%          19.40%            40.30%
                                            ไม่ใช่            33.30%          65.30%             6.90%
                                            ไม่แน่ใจ          37.50%          15.30%            52.80%
1.6 ท่านชอบหรือสนับสนุนนโยบายใดมากที่สุด           ไม่แน่ใจ          13.90%           1.40%            63.90%

20.80%

2. ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายลดต้นทุนการผลิตข้าวของ คสช.

อันดับ 1 ต้องให้ความสำคัญกับการตลาด การขยายตลาด ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ คสช. ควรดูแลกลไกตลาดให้มีการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวนา รวมถึงการชดเชยราคาในกรณีที่ราคาผลผลิตตกต่ำหรือพืชผลประสบภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดจนกระทบต่อชีวิตของชาวนา

อันดับ 2 การดำเนินนโยบายลดต้นทุนต้องทำพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) อย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม ด้วยการทำ zoning พื้นที่เกษตร การปรับปรุงคุณภาพข้าว การปรับปรุงระบบชลประทาน การปรับปรุงคุณภาพดิน

อันดับ 3 บูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ของเกษตรกร หลักเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้แปรรูปสินค้า ภาคอุตสาหกรรม แล้วถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

อันดับ 4 การดำเนินโครงการต้องทั่วถึง เป็นธรรม ไม่มีคอร์รัปชั่น ตรวจสอบได้ และต้องป้องกันการกักตุนปุ๋ย สารเคมีเพื่อการเก็งกำไร นอกจากนี้การดำเนินโครงการนี้ควรคลอบคลุมพืชสวนและพืชไร่ด้วย อันดับ 5 อื่นๆ ได้แก่ ต้องวัดผลสัมฤทธ์ของโครงการได้เป็นรูปธรรม ลดการใช้ปุ๋ยจากต่างประเทศ นำโครงการปุ๋ยแห่งชาติกลับมาดำเนินการใหม่ นโยบายนี้ต้องดำเนินการเพียงชั่วคราว ควรมีมาตราการเสริมอื่นๆ เพื่อให้ตลาดสมบูรณ์ขึ้น รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาให้น้อยที่สุด

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
         นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อนโยบายข้าวใน 3 นโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆ ว่านโยบายใดเป็นนโยบายที่ดี แต่ละนโยบายมีจุดอ่อนจุดแข็งในประเด็นใด รวมถึงข้อเสนอแนะต่อ คสช. ในการดำเนินนโยบายลดต้นทุนการผลิต เพื่อข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 34 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล          :  16 – 28 กรกฎาคม 2557

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ              :  30 กรกฎาคม 2557

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                               31      43.1
          หน่วยงานภาคเอกชน                            26      36.1
          สถาบันการศึกษา                               15      20.8
                    รวม                              72       100
เพศ
          ชาย                                        43      59.7
          หญิง                                        29      40.3
                    รวม                              72       100
อายุ
          18 ปี – 25 ปี                                 1       1.4
          26 ปี – 35 ปี                                16      22.2
          36 ปี – 45 ปี                                29      40.3
          46 ปีขึ้นไป                                   26      36.1
                    รวม                              72       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                     4       5.6
          ปริญญาโท                                    45      62.5
          ปริญญาเอก                                   23      31.9
                    รวม                              72       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                     10      13.8
          6-10 ปี                                     21      29.2
          11-15 ปี                                    13      18.1
          16-20 ปี                                    11      15.3
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                              17      23.6
                    รวม                              72       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ