รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 23, 2010 16:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 29/2553

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเมษายน 2553 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เติบโตในอัตราที่สูงกว่าที่คณะกรรมการฯ คาดไว้ โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ต่อมาในช่วงแรกของไตรมาสที่ 2 เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่ผลกระทบดังกล่าวอยู่ในวงจำกัดและไม่ได้รุนแรง ทำให้ในภาพรวมการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้ายังคงเร่งตัว

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการของภาครัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้น เพราะผลลบของมาตรการเรียนฟรีหมดไปหลังดำเนินมาตรการมาครบรอบ 1 ปี ประกอบกับภาครัฐได้ยกเลิกการอุดหนุนค่าน้ำประปาตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเพิ่มของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศชะลอลงจากผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ซึ่งช่วงดังกล่าวมีการขึ้นภาษีน้ำมันและมีการเร่งตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติเมื่อ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้

1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในปี 2553 สูงกว่าข้อสมมติเดิม สอดคล้องกับข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่องของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้ปรับลดข้อสมมติในปี 2554 ลงเล็กน้อยเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป

2. ข้อสมมติอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไม่ต่างจากรายงานฉบับก่อน โดยคณะกรรมการฯ คาดว่า FOMC จะค่อยๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เป็นต้นไป

3. ค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าข้อสมมติเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการประกาศปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นได้เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินภูมิภาคด้านแข็งค่า

4. ข้อสมมติรายจ่ายโดยตรงของภาครัฐในปีงบประมาณ 2553 สูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมทั้งในส่วนของรายจ่ายอุปโภคและรายจ่ายลงทุน จากการปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางตามข้อมูลการเบิกจ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับปีงบประมาณ 2554 รายจ่ายภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแม้วงเงินงบประมาณไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากข้อสมมติเดิม ทั้งนี้เพราะรายได้ภาครัฐที่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บได้เกินเป้าในปีงบประมาณ 2553 จะทำให้ภาครัฐสามารถชำระคืนต้นเงินกู้ได้มากขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนที่สามารถใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมในปีถัดไป

5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบในระยะข้างหน้าเท่ากับข้อสมมติครั้งก่อน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดราคาน้ำมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานฉบับที่แล้ว แต่มีการปรับราคาลงเล็กน้อยสำหรับไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2553 ตามข้อมูลจริง ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 79.8 และ 87.5 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ

6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตรปรับทอนลงจากข้อสมมติเดิมตามราคาจริงของสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อปริมาณผลผลิตไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาด สำหรับข้อสมมติราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมในปี 2553 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก่อนที่จะชะลอตัวลงมากกว่าข้อสมมติเดิมในปี 2554 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ให้ราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบทางการเกษตรปรับลดลงจากปี 2553 ค่อนข้างมาก

7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่ากับข้อสมมติเดิม โดยอยู่ที่ 206 บาทต่อวันในปี 2553 ก่อนปรับสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 209 บาทต่อวันในปี 2554 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติข้างต้นและข้อสมมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงที่ ณ ระดับร้อยละ 1.50 ต่อปีตลอดช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter-on-quarter) ในอัตราเฉลี่ยต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี เพราะเศรษฐกิจโลกจะแผ่วลงจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป อีกทั้งปัจจัยทางการเมืองภายใน ประเทศยังไม่ได้คลี่คลายโดยสมบูรณ์ ทำให้การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงบ้างจากที่ขยายตัวสูงในครึ่งปีแรก ซึ่งจะมีผลจำกัดการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนบ้างเช่นกัน แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวจากปีก่อนหน้าในอัตราที่สูงกว่าประมาณการเดิม โดยเป็นผลจากการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกเป็นสำคัญ และจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2554 ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่เข้มแข็งขึ้น โดยอุปสงค์ในประเทศภาคเอกชนและการส่งออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าประมาณการเดิม แต่คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในปี 2553อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยจาก (1) การชะลอตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตามแนว

โน้มเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง (2) ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้าต่อไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าอุปสงค์ในประเทศยังไม่เข้มแข็งนัก และ (3) การต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐบางส่วนออกไปถึงสิ้นปี สำหรับในปี 2554 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ค่อยๆ ปิดลงและเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ง่ายขึ้น กอปรกับได้รับผลบวกจากการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐด้วย

อนึ่ง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากประมาณการในกรณีฐาน แต่ในภาพรวมปัจจัยเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในรายงานฉบับก่อน และความเสี่ยงด้านลบและความเสี่ยงด้านบวกกลับมาสมดุลกันมากขึ้น โดยเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ลดลงหลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ขณะที่ความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญต่อไป ดังนั้น Fan Chart ของการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงปรับเป็นสมดุล เทียบกับที่เบ้ลงค่อนข้างชัดเจนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในรายงานฉบับที่แล้ว โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 6.5-7.5 ในปี 2553 และร้อยละ 3.0-5.0 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 74.1 และ 81.9 ตามลำดับ

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ มองว่าความเสี่ยงด้านสูงและความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างสมดุลเช่นกัน ทำให้ Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและ Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสมดุลตลอดช่วงประมาณการ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.8 ในปี 2553 และร้อยละ 2.5-4.5 ในปี 2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 93.9 และ 84.7 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.3 ในปี 2553 และร้อยละ 2.0-3.0 ในปี2554 ด้วยโอกาสที่จะเกิดประมาณร้อยละ 99.2 และ 91.9 ตามลำดับ

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการฯ เห็นว่า แม้ความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษลดน้อยลงไปมาก แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังประเมินได้ไม่ชัดเจนในขณะนั้นทำให้ยังควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบจากการเมืองอยู่ในวงจำกัด และเศรษฐกิจน่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในภาพรวมความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีน้อยลง จึงควรเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ และมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม : กฤตชญา จั่นเจริญ

โทร. 0 2356 7876 E-mail: kritchap@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ