รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 7, 2015 10:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2558

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้างได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,360 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.9 ซึ่งเท่ากับเดือนพฤษภาคม 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.5 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน ที่ผ่านมา ที่มีค่า 32.6 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.2 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 43.1 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกรายการยังคงต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันและสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวและราคาสินค้าภาคการเกษตร แม้ว่าราคาสินค้าภาคการเกษตรบางรายการจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน แต่ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว ทั้งยังเกิดภัยแล้งขยายวงกว้างมากขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับ ความเดือดร้อนน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ผลผลิตพืชไร่ได้รับความเสียหาย ชาวนาส่วนใหญ่ต้องชะลอการปลูกข้าวทำให้รายได้ลดลง เป็นผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคไม่มีการขยายตัว ซึ่งกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน อย่างเร่งด่วนโดยออกมาตรการต่างๆเพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้ง หาทางช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 47.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยัง ไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาสินค้า ภาคการเกษตรยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เกษตรกรต้องมาเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตได้รับความเสียหาย รายได้ของเกษตรกรลดลง หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ธ.ค. 57   ม.ค. 58   ก.พ. 58   มี.ค. 58   เม.ย. 58   พ.ค. 58   มิ.ย. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      44.2      43.3      42.4      40.0      38.8       38.9      38.9

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                              ธ.ค. 57   ม.ค. 58   ก.พ. 58   มี.ค. 58   เม.ย. 58   พ.ค. 58   มิ.ย. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน        38.7      38.7      36.8      34.1       32.5      32.6      32.5
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต        47.8      46.5      46.1      44.0       42.9      43.1      43.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                      ธ.ค. 57   ม.ค. 58   ก.พ. 58   มี.ค. 58   เม.ย. 58   พ.ค. 58   มิ.ย. 58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)    52.2      50.4      50.9      49.5       47.0      47.3      47.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ธ.ค. 57   ม.ค. 58   ก.พ. 58   มี.ค. 58   เม.ย. 58   พ.ค. 58   มิ.ย. 58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     29.2      27.6      27.5      25.6       24.2      26.1      26.2
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      33.9      32.0      31.8      30.6       31.6      31.7      31.4

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                       ธ.ค. 57   ม.ค. 58   ก.พ. 58   มี.ค. 58   เม.ย. 58   พ.ค. 58   มิ.ย. 58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน             62.4      60.0      62.4      61.7       59.8      58.5      59.0
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า              14.6      15.2      13.0      14.6       14.6      15.3      16.4
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ        19.6      21.4      19.0      22.0       19.8      20.2      20.7
(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ ภาคกลาง จาก 39.3 เป็น 41.1 ภาคเหนือ จาก 40.2 เป็น 41.2 ภาคตะวันออก จาก 30.0 เป็น 30.1 และภาคใต้จาก 29.6 เป็น 30.2 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 42.4 เป็น 41.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 43.5 เป็น 41.9 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง เกษตรกรมีรายได้ลดลง อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ในหลายพื้นที่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเริ่ม ไม่เพียงพอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากโดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้ง ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ดูแลค่าครองชีพ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ราคาแก๊สหุงต้ม ฯลฯ

2. กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระตุ้นงบลงทุนต่าง เพื่อให้มีการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

3. จัดกิจกรรมซื้อสินค้าราคาประหยัดเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย

4. กระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อกระจายความเจริญสู่ชนบท

5. แก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพงแต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว

6. สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน เพื่อจะได้มีการวางแผนการลงทุนในระยะยาว

7. สร้างความชัดเจนของนโยบาย/แผนงานและกระตุ้นการเบิกจ่ายภาครัฐ

8. สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือชุมชนให้มีงานทำและมีรายได้

9. พัฒนาเศรษฐกิจสินค้าเกษตร ยกระดับราคาสินค้าทางการเกษตร

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

2. แก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดการเกิดปัญหาอาชญากรรมในชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. แก้ไขปัญหาความยากจน ความเลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้นอกระบบ

5. พัฒนาการศึกษาของเยาวชน หางานรองรับให้กับนักศึกษาจบใหม่

6. ดูแลประชาชนในระดับรากหญ้า และสวัสดิการผู้สูงอายุ

7. ส่งเสริมเกษตรระบบอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะยาและสารเคมี

8. แก้ไขปัญหาสถานพยาบาลไม่เพียงพอ รวมทั้งดูแลสุขอนามัยของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

9. วางระบบแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยจัดระบบชลประทานให้ทั่วถึง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำ

10. ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอบรมให้ความรู้เกษตรกรเพื่อพัฒนาและวางแผนการทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ