รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 17, 2016 15:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2559

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้ครัวเรือน กระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,480 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 33.8 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ที่มีค่า 35.1 ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 27.3 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 29.1 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 38.0 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 39.1 ทั้งนี้ ค่าดัชนีปรับลดลงทุกรายการและยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเป็นผลกระทบมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และยังส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาโครงสร้างด้านแรงงาน ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ อีกทั้ง ช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาเกษตรกรมีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นและมีความกังวลต่อรายได้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ อีกทั้ง ยังออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยประกาศให้ช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รวมทั้ง ปัจจัยบวกจากการปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกลงหลายรายการ เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 44.2 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 43.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เกษตรกรเริ่มคลายความกังวลจากภาวะภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มีความคาดหวังว่าจะมีเงินเพื่อการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการซื้อเพื่อการทดแทนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ ตัวเลขด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.8 โดยปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ                 ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม       36.4     38.1     36.0      35.8     35.5     35.1     33.8

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                              ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน       30.9     32.0     29.8      29.9     29.9     29.1     27.3
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       40.0     42.2     40.0      39.7     39.3     39.1     38.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                          ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       45.1     47.7     45.5      44.2     44.1     43.9     44.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                      ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                      25.4     26.9     25.0      25.2     25.3     23.5     21.4
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       28.7     31.0     28.7      29.5     30.2     28.2     26.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                     ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน          55.3     53.0     51.2      56.8     55.4     55.4     52.8
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า           12.8     13.3     12.1      13.9     11.9     13.2     13.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน         19.5     21.6     20.7      22.2     22.4     22.0     19.6
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2559 ทุกภาคปรับลดลง ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 36.4 เป็น 33.8 ภาคกลาง จาก 42.8 เป็น 42.0 ภาคเหนือ จาก 36.9 เป็น 36.3 ภาคตะวันออก จาก 36.4 เป็น 35.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 31.8 เป็น 31.7 และภาคใต้ จาก 27.5 เป็น 24.3 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาเกษตรกรมีหนี้สะสมเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีความกังวลต่อรายได้จาก ผลผลิตทางการเกษตรในอนาคต ปัญหาโครงสร้างในตลาดแรงงาน ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมของผู้ที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

2. วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร

3. ส่งเสริมการลงทุนและผลักดันการส่งออก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

4. เร่งการลงทุนและเบิกจ่ายจากภาครัฐ

5. กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ สนับสนุนให้คนไทยใช้ของไทย

6. วางระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุน

7. ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สนับสนุนเงินลงทุนและช่องทางการจำหน่าย รวมทั้งเพิ่มความรู้ทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น

2. ปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย

3. แก้ไขปัญหาความยากจน ลดปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย

4. ปัญหาการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี

5. เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

6. เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับในเมือง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ