ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน ตุลาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 1, 2017 15:25 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนตุลาคม 2560 ปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.86 (YoY) เท่ากับเดือนที่ผ่านมา ผลจากการปรับขึ้นของราคาผักสดช่วงเทศกาลกินเจ ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียมีแผนขยายเวลาลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปี 2561 จากเดิมเดือนมีนาคม 2561 ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาบุหรี่และสุรา จากการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ จากเดือนที่แล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.62 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณการอัตราเงินเฟ้อใหม่ทั้งปี 2560 ร้อยละ 0.4 - 1.0

ระดับราคาสินค้าและบริการ ของเดือนตุลาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.16 จากเดือนกันยายน 2560 (MoM) เป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.23 ( ผักสด ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป) และสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเรือ น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ สุรา) โดยมีภาวะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้

ผักสดและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.70 เนื่องจากมีความต้องการมากในช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่ปริมาณผลผลิตเสียหายจากฝนตกชุก เช่น ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง ผักคะน้า หัวผักกาดขาว พริกสด มะเขือ ส่วนผลไม้มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ลองกอง ลำไย มะม่วง และสับปะรด

นมผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.10 เช่น นมสด นมข้นหวาน และนมเปรี้ยว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.11 เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้ น้ำหวาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากหมดโปรโมชั่น

อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.04 เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) โดยบางแหล่งได้ปรับราคาสูงขึ้นและอยู่ในเกณฑ์ระดับราคาทั่วไป

ค่าเช่าบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.02

ค่าโดยสารเรือ สูงขึ้นร้อยละ 3.32 ผลจากการขึ้นราคาของน้ำมันดีเซลต่อเนื่องกันจากเดือนที่แล้ว กรมเจ้าท่าจึงปรับราคาค่าโดยสารเรือขึ้น

น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (ดีเซล ก๊าซ NGV ) ตามภาวะตลาดโลกจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงโดยกลุ่มผู้ผลิต

ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.44 เช่น บุหรี่ เบียร์ ไวน์และสุรา จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ของสุราและยาสูบ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 มีผลในเดือนตุลาคม 2560 ทั้งเดือน

เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อ สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (YoY) จากราคาผักสดที่ราคาปรับสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้นตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป บุหรี่และสุรา เป็นสำคัญ

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเดือนม.ค. - ต.ค.2560 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (AoA)

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เดือนตุลาคม 2560 สูงขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 0.09 (MoM) เทียบกับเดือนตุลาคม 2559 สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (YoY) เฉลี่ย 10 เดือนปี 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.54 (AoA)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2560

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าปีฐาน 2558 ทั้งหมด 422 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2560 สรุปได้ดังนี้ คือ

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2560 (ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 101.38 (เดือนกันยายน 2560 เท่ากับ 101.22)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2560 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                                              การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
          2.1 เดือนกันยายน 2560 (MoM)                                 สูงขึ้น         +0.16
          2.2 เดือนตุลาคม 2559 (YoY)                                  สูงขึ้น         +0.86
          2.3 เฉลี่ย 10 เดือน 2560 (AoA) (มกราคม - ตุลาคม 2560)         สูงขึ้น         +0.62

เทียบกับ (มกราคม - ตุลาคม 2559)

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนกันยายน 2560 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ +0.16 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้

สาเหตุจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +0.23 ตามการสูงขึ้นของหมวดผักสดและผลไม้ ร้อยละ +2.70 ความต้องการมากในช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่ปริมาณผลผลิตเสียหายจากฝนตกชุก เช่น ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง ผักคะน้า หัวผักกาดขาว พริกสด มะเขือ ผลไม้มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ลองกอง ลำไย มะม่วง และสับปะรด นมผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ +0.10 เช่น นมสด นมข้นหวาน และนมเปรี้ยว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +0.11 เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำผลไม้ น้ำหวาน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ +0.04 เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง) หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ +0.12 เช่น ค่าเช่าบ้าน สูงขึ้นร้อยละ +0.04 ค่าโดยสารเรือ สูงขึ้นร้อยละ +3.32 น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ +0.19 (น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ NGV ) กลุ่มผู้ผลิตหลักลดปริมาณการผลิต ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +3.44 เช่น บุหรี่ เบียร์ ไวน์ และสุรา จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 มีผลในเดือนตุลาคม 2560 ทั้งเดือน

2.2 เทียบเดือนตุลาคม 2559 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ +0.86 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้

สาเหตุจากหมวดหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ +0.40 ได้แก่ ผักสด ลองกอง ผลไม้กระป๋อง กะทิสำเร็จรูป มะขามเปียก กาแฟ(ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง(delivery) อาหารเย็น หมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ +1.07 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.11 (ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลคนไข้นอก ค่าทำฟัน ค่าเจาะเลือด) หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +1.47 (ค่าโดยสารเรือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.52 (ค่าทัศนาจรภายใน-ต่างประเทศ ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +5.58 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.12 (เสื้อผ้าสตรี/เด็ก รองเท้าบุรุษ/สตรี)

2.3 เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค. 2560) เทียบกับ(ม.ค.-ต.ค.2559)(AoA) สูงขึ้นร้อยละ +0.62 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้

สาเหตุจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ+0.99 ประกอบด้วย หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ +2.44 (น้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 แก๊สโซฮอล์ E20 E85 NGV) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ +0.56 (ค่าทัศนาจร ค่าการศึกษา) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ +2.42 (บุหรี่ ไวน์ สุรา) รวมทั้งหมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ +0.29 (ค่ายา ค่าของใช้ส่วนบุคคล) ขณะที่หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -0.03 (ค่ากระแสไฟฟ้า สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด) และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.02 (ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผักสด ผลไม้ )

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ปรับการประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 ร้อยละ 0.4 -1.0 ต่อปี โดยมีสมมติฐานหลักคือ

          สมมติฐาน          ช่วงประมาณการ

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย (%) 3.50 (3.0 - 4.0)ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและการส่งออกที่ฟื้นตัว

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยลดค่าใช้จ่าย

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก

การท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD / Barrel) 50.0 (45.0 - 55.0) มีความต้องการใช้มากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การรวมตัวผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตลง

มีความต้องการใช้มากขึ้นในช่วงหน้าหนาว และตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและภัยธรรมชาติ

3. อัตราแลกเปลี่ยน (บาท / USD) 34.0 (33.5 - 34.5)อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าช่วงปลายปี

ปัจจัยการไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลกับสถานการณ์การเมืองของไทย

ความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยง

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการการผลิตและรายได้เกษตรกร และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ผลจากซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบถึงสิ้นปี 2561 (เดิม มีนาคม 2561)

การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2560 ค่าเงินดอลล่าร์และค่าเงินเอเชียเริ่มทรงตัว ส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเงิน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ